บีโอไอลุยแผน 5+5 ดึงลงทุนปีมะโรง มั่นใจเกิน 6 แสนล้าน

24 ธ.ค. 2566 | 09:12 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2566 | 09:52 น.

ปี 2566 กำลังจะผ่านพ้นไป ปี 2567 หรือปีมะโรง-งูใหญ่ จะเข้ามาแทนที่ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจ และการค้าโลกที่ยังชะลอตัว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของหลายคู่ของโลกที่ยังเขม็งเกลียว

ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ต่อด้วยสงครามอิสราเอล-ฮามาส ยังไม่คลี่คลาย การดึงการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายใหม่ให้กับทุกประเทศถือเป็นอีกภาคส่วนสำคัญที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ หนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการดึงการลงทุนทั้งจากในและนอกประเทศ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” เพื่อฉายภาพทิศทางและยุทธศาสตร์การดึงการลงทุนในปี 2567 ที่จะมาถึง

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ

นายนฤตม์ กล่าวนำว่า เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาคณะกรรมการหรือบอร์ดบีโอไอที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในระยะ 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2567 2570) โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริม 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ และ 5 วาระสำคัญเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่การเป็นฐาน การผลิตชั้นนำระดับโลก โดยบีโอไอ จะทยอยออกมาตรการใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนแผน 5+5 ดังกล่าว

  • 5 อุตฯยุทธศาสตร์ใหม่

สำหรับ 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่บีโอไอ จะเน้นเป็นพิเศษ เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG โดยเฉพาะเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงานสะอาด 2.อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเน้นยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) 3.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเน้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ต้นนํ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 4.อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และ 5.การส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters)

บีโอไอลุยแผน 5+5 ดึงลงทุนปีมะโรง มั่นใจเกิน 6 แสนล้าน

ขณะเดียวกันจะขับเคลื่อน 5 วาระสำคัญ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อมุ่งตอบโจทย์กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้แก่ 1.การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Transformation) 2.การพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี (Technology Development) 3.การพัฒนาและดึงดูดบุคลากรทักษะสูง (Talent Development & Attraction) 4.การส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ (Cluster-based Investment) และ 5.การแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Ease of Investment)

“ช่วงเวลา 2–3 ปีจากนี้ เป็นช่วงที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก เพราะมีการปรับโครงสร้างซัพพลายเชนครั้งใหญ่ และเกิดการย้ายฐานการลงทุนมุ่งหน้ามาสู่ภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ถือเป็นโอกาสทองของประเทศไทย เนื่องจากมีความโดดเด่นทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่ง บุคลากรที่มีคุณภาพ รวมถึงซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมสำคัญครบวงจรที่สุดในภูมิภาค โดยเฉพาะยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลให้ความสำคัญในการผลักดันการลงทุนอย่างมาก เพราะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน”

  • เร่ง 5 เรื่องดึงลงทุนปี 67

ขณะเดียวกันการแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน หรือ Ease of Investment เป็นเรื่องที่บอร์ดบีโอไอให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน ทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของการประกอบธุรกิจ และการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ โดยบอร์ดได้กำหนด 5 เรื่องสำคัญที่จะดำเนินการเป็นลำดับแรก คือ

1. การลดขั้นตอนในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2. การจัดหาพลังงานสะอาดสำหรับภาคอุตสาหกรรม 3. การแก้ปัญหาผังเมืองในพื้นที่อุตสาหกรรม 4. การปลดล็อกข้อจำกัดการลงทุนในธุรกิจบริการของคนต่างชาติในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และ 5. การอำนวยความสะดวกในการทำงานของบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ โดยบีโอไอจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำเรื่องเหล่านี้ให้ลุล่วงโดยเร็ว

สำหรับปี 2567 เชื่อว่าทิศทางการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ จะยังคงมีโมเมนตัมการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากแรงกดดันจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่โดดเด่นของภูมิภาค นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังเป็นผู้นำเดินทางออกไปสื่อสาร เชื่อมสัมพันธ์ และเชื้อเชิญการลงทุนกับกลุ่มธุรกิจที่สำคัญในต่างประเทศด้วยตัวเอง ถือเป็นการสร้างการรับรู้และสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในสายตาชุมชนธุรกิจโลก จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดึงดูดการลงทุน

 “ในปี 2566 คาดว่าเราจะทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6 แสนล้านบาท และเชื่อว่าในปี 2567-2568 จะเป็นโอกาสทองของประเทศไทย ที่จะช่วงชิงการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สำคัญ เพื่อเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยคาดว่าตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2567 จะเติบโตจากปีที่ผ่าน ๆ มาอย่างมีนัยสำคัญ”

  • หลากความท้าทายต้องก้าวข้าม

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจำเป็นต้องก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ เช่น ข้อจำกัดด้านปริมาณแรงงาน จากการลดลงของจำนวนประชากรที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เนื่องจากสังคมสูงวัย รวมถึงการยกระดับแรงงานให้มีความรู้และทักษะขั้นสูง ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมกับมีความจำเป็นในการดึงดูดบุคลากรต่างชาติที่มีทักษะสูงให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทย

ความสะดวกในการลงทุนและประกอบธุรกิจ โดยต้องปรับปรุงระบบกฎหมายและการออกใบอนุญาตต่างๆ ให้ทันสมัย และเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ซึ่งบีโอไอ เป็นหนึ่งในกรรมการ และบอร์ดบีโอไอ ก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการลงทุนซึ่งมีเลขาธิการบีโอไอ เป็นประธานเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของนักลงทุนด้วย

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะคู่ค้าและตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น จีน และประเทศในกลุ่มยุโรป ที่อาจกระทบต่อกำลังซื้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้าขยายการจัดทำข้อตกลง FTA กับประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อสร้างตลาดสำหรับการส่งออกใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทย

ความผันผวนของราคาพลังงาน อันเกิดจากภาวะสงคราม ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนการพัฒนาและจัดการพลังงานอย่างเป็นระบบ ทั้งการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด และส่งเสริมการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS)

“การแย่งชิงการลงทุนอย่างรุนแรงจากทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับข้อตกลง OECD ที่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีขั้นตํ่าทั่วโลก (Global Minimum Tax) ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เครื่องมือใหม่ๆ เพื่อให้ประเทศไทยยังสามารถแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ สำหรับบีโอไอนอกจากมาตรการทางภาษีแล้ว ยังจะใช้มาตรการทางการเงินผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ เพื่อสนับสนุนโครงการสำคัญและบรรเทาผลกระทบจาก Global Minimum Tax ด้วย” นายนฤตม์ กล่าว