นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและน่าจับตามองในปี 2567 จากการที่กรมได้ดำเนินการวิเคราะห์โดยประเมินข้อมูลธุรกิจจากหลายภาคส่วน ทั้งสถิติข้อมูลภายในของกรมฯ ในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สถิติจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ อัตราการเติบโต ผลประกอบการของธุรกิจ และการจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจ ร่วมกับข้อมูลปัจจัยทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจต่างๆ
ทั้งนี้ จากผลการวิเคราะห์ สามารถแบ่งกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามองและน่าสนใจในปี 2567 ออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ 9 ประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย
กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
โดยถือเป็นธุรกิจที่ได้รับผลดีจากปัจจัยบวกในการเปิดประเทศและมาตรการสนับสนุนภาครัฐที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องสามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ สร้างโอกาส และรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ
กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ
กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ การรักษารูปร่าง หน้าตา และการดูแลสุขภาพของบุคคล สำหรับกลุ่มที่มีความต้องการดูแลเป็นพิเศษ มีประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
- ธุรกิจสุขภาพและความงาม เช่น ธุรกิจปลูกพืช เครื่องเทศ เครื่องหอมยารักษาโรค ,ธุรกิจโรงพยาบาล คลินิกโรคเฉพาะทาง ,ธุรกิจขายปลีก/ส่งเภสัชภัณฑ์และเวชภัณฑ์ ฯลฯ โดยประเภทธุรกิจสุขภาพและความงามรอบปีบัญชี 2565 สร้างรายได้ 1,184,181 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2564 มูลค่า 97,052 ล้านบาท กำไรสุทธิ 91,959 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2564 มูลค่า 3,687 ล้านบาท โดยความวิตกกังวลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา สังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสนใจหันมาดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง การให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของบุคคล รูปร่าง หน้าตา เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มธุรกิจนี้เป็นอย่างมาก
- ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจสถานที่ดูแลรักษาสำหรับผู้สูงอายุ ,ธุรกิจบริการจัดหาที่พักให้ ,ธุรกิจสังคมสงเคราะห์โดยไม่มีที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ฯลฯ จากแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทั้งของไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลให้จำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอัตราการเกิดของประชากรใหม่ในแต่ละปี ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุเข้ามามีบทบาทและสร้างโอกาสการทำตลาดเพื่อรองรับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ มีการจัดตั้งธุรกิจในปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) จำนวนทั้งสิ้น 107 ราย เพิ่มสูงขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยปัจจุบันมีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 721 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งสิ้นกว่า 4,250 ล้านบาท
กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องรูปแบบการใช้ชีวิต
กลุ่มธุรกิจนี้ ถือเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน มีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา โดยประเภทธุรกิจที่น่าสนใจประกอบด้วย
- ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น ธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยง ,ธุรกิจขายปลีกอาหารและอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ,ธุรกิจขายส่งอาหารสัตว์ ฯลฯ โดยปี 2566 (มกราคม - พฤศจิกายน) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจรวม 494 ราย เติบโตสูงขึ้น 32% เมื่อเทียบกับปี 2565 รายได้ทางธุรกิจรอบปีบัญชี 2565 จำนวน 197,842 ล้านบาท รวมทั้ง มีอัตราเติบโตของกำไรปี 2565 เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จาก 3,152 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 13,304 ล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งธุรกิจดังกล่าว เป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นจากความรักและความผูกพันธ์ระหว่างคนและสัตว์เลี้ยงที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสัตว์เลี้ยงให้เปรียบเสมือนคนในครอบครัว ทำให้ผู้เลี้ยงสัตว์ลงทุนสรรหา/เลือกอาหาร และอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีมูลค่าสูงให้กับสัตว์เลี้ยงของตน ส่งผลให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้และผลกำไรแก่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง
- ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ด้วยสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งรอบข้างที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะการณ์ของโลก ทำให้ผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์และรูปแบบกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบทางธรรมชาติทั้งปัจจุบันและอนาคต ส่งผลให้มีธุรกิจหลายประเภท เช่น ธุรกิจรีไซเคิล ,ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ,ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น โดยปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจรวมทั้งสิ้น 197 ราย เติบโตสูงขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปี 2565 รายได้ทางธุรกิจรอบปีบัญชี 2565 จำนวน 486,759 ล้านบาท รวมทั้ง มีอัตราเติบโตของผลกำไรปี 2565 ถึงกว่า 45% จาก 24,517 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 35,512 ล้านบาท ในปี 2565
กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์
เป็นกลุ่มธุรกิจตอบโจทย์โลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและนวัตกรรม ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ครอบคลุมทุกช่วงวัยของประชากรในสังคม มีมูลค่าทางการตลาดระดับสูง โดยมีประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
- ธุรกิจบริการ e-Commerce ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต และธุรกิจตลาดกลางในการซื้อขายออนไลน์ เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความสะดวกสบาย ความคุ้มค่าในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภค และบริการต่างๆ ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันที่เข้าถึงสินค้าและบริการเพียงปลายนิ้วสัมผัส โดยปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีการจัดตั้งธุรกิจรวม 1,800 ราย เติบโตสูงขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปี 2565 รายได้รอบปีบัญชี 2565 สูงถึง 194,837ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 38,192 ล้านบาท หรือ 24%
- ธุรกิจบริการชำระเงินแบบดิจิทัล ได้แก่ ธุรกิจการประมวลผลและการเรียกชำระเงินสำหรับธุรกรรมทางการเงิน เป็นธุรกิจให้บริการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์ ทำให้การชำระค่าสินค้าและบริการเป็นเรื่องง่ายและสะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ การจัดตั้งธุรกิจปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีจำนวน 22 ราย สร้างรายได้รอบปีบัญชี 2565 มูลค่า 19,098 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้น 37% เมื่อเทียบกับรอบปีบัญชี 2564 รวมทั้ง สร้างผลกำไรสูงมากกว่า 1.9 เท่า จาก 844 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 2,478 ล้านบาท ในปี 2565
- ธุรกิจซอฟต์แวร์ เช่น ธุรกิจจัดทำโปรแกรมเว็บเพจ ,ธุรกิจจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ,ธุรกิจให้คำปรึกษาทางด้านซอฟต์แวร์ ฯลฯ ในปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจรวม 1,104 ราย โดยธุรกิจกลุ่มนี้ สร้างรายได้รอบปีบัญชี 2565 มูลค่า 160,201 ล้านบาท สูงขึ้นถึง 19,171 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับรอบปีบัญชี 2564 ซึ่งการเติบโตของธุรกิจดังกล่าวสอดคล้องกับยุคแห่งการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่การดำรงชีวิตไปจนถึงการประกอบธุรกิจของภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ รวมทั้ง ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ล้วนนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนประกอบประสานรวมกับ AI หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างชัดเจน เป็นแรงผลักดันที่ส่งผลให้ธุรกิจซอฟต์แวร์เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี คาดว่าปี 2567 การประกอบธุรกิจของภาคเอกชนจะมีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยต้องพิจารณารวมกับปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ เช่น เศรษฐกิจของโลกและเศรษฐกิจประเทศต่างๆ หรือปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ของเศรษฐกิจประเทศ
นางอรมน กล่าวว่า กรมฯได้ทำการวิเคราะห์โดยใช้หลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ ดังนี้
- จำนวนและอัตราการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจ 50%
- ผลประกอบการ (กำไรและรายได้) 20%
- อัตราการเลิกของธุรกิจ 20%
- ปัจจัยภายนอก 10W ได้แก่ แนวโน้ม กระแสความนิยม พฤติกรรมของธุรกิจ นโยบายรัฐบาล และดัชนีทางเศรษฐกิจ เป็นต้น