"ชัชชาติ" คุมเข้ม "เปิดผับกทม.ถึงตี 4" ต้องมีใบอนุญาตสถานบริการเท่านั้น

15 ธ.ค. 2566 | 20:10 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2566 | 17:30 น.

"ผู้ว่ากทม.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" คุมเข้มการเปิดสถานบริการ-สถานบันเทิง-ผับได้ถึงตี 4 ลั่น ต้องเป็นสถานบริการตามใบอนุญาตเท่านั้น

หลังจากราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่  "กฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 " หรือ กฎกระทรวงอนุญาตให้นำร่องเปิดสถานบริการตี 4 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย  กรุงเทพมหานคร จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

รวมถึงสถานบริการที่ตั้งที่อยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมทั่วประเทศ ให้เปิดบริการได้ถึงเวลา 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้นได้ โดยกฎกระทรวง จะเริ่มผลบังคับทันที ตั้งแต่วันนี้ (15 ธ.ค. 2566) เป็นต้นไป

ล่าสุด นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  เปิดเผยถึง ร้าน/สถานบริการ/ผับ ที่จะสามารถเปิดให้บริการได้ถึงเวลา 04.00 น. ต้องเป็นสถาน บริการตามใบอนุญาต ซึ่งในกรุงเทพมหานครมีทั้งหมด 207 แห่ง แต่ขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 140 แห่ง เนื่องจากบางแห่งได้มีการปิดบริการไปแล้ว อย่างเช่น พื้นที่ทองหล่อ ที่ขณะนี้แทบจะไม่มีร้านที่ให้บริการประเภทดังกล่าว 

ซึ่งจริงๆแล้ว สถานบริการอยู่ใน 3 โซนหลัก ได้แก่ รัชดา สีลม และอาร์ซีเอ (RCA) ซึ่งจะมีการทำรายละเอียดออกมาร้านไหนว่าร้านไหนเข้าข่ายสถานบริการที่ได้รับอนุญาตบ้าง

สำหรับเงื่อนไข เปิดผับตี 4 เป็นการขยายเวลาให้สถานบริการใน 5 จังหวัด/พื้นที่ ดังต่อไปนี้ โดยเปิดให้บริการได้ถึงเวลา 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้นได้ ได้แก่

สถานบันเทิงผับ บาร์ ที่จะ เปิดผับตี 4 ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.สถานบริการ 2546 และพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 โดยเข้มงวดในมาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลดังต่อไปนี้

1.บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์

2.บุคคลที่มีอาการมึนเมาสุราจนครองสติไม่ได้

ส่วนสถานบันเทิงที่จะ เปิดผับตี 4 ต้องดำเนินตามมาตรการ ดังนี้

1.สถานบริการตรวจวัดแอลกอฮอล์ทางลมหายใจ ก่อนอนุญาตให้ขับขี่ออกจากสถานบริการ

2.วัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดทางลมหายใจแล้วพบว่า มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้สถานบริการจัดหาที่พักคอย และอำนวยความสะดวกเพื่อรอให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดทางลมหายใจลดลง ต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จึงอนุญาตให้ขับขี่ออกจากสถานบริการ

3.กรณีที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ไม่ยินยอมพักคอย ให้สถานบริการประสานให้เพื่อน/ญาติ ของผู้ใช้บริการขับขี่แทน

4.จัดบริการยานพาหนะ เพื่อส่งลูกค้าเดินทางกลับโดยคิดค่าบริการจากผู้ใช้บริการ โดยมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลและประเมินผลกระทบจากการขยายเวลาเปิดสถานบริการ

 

กทม. ฟอร์มทีมตรวจย่านข้าวสาร เน้นปลอดภัยสูงสุด

พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจสถานบริการ ณ ถนนข้าวสาร เขตพระนคร ในช่วงบ่ายวันนี้ (15 ธ.ค. 66) ว่า สำหรับการลงพื้นที่วันนี้เรียกว่าเป็นการมาตรวจสถานบริการเพื่อเตรียมตัวรับนโยบายของรัฐบาลและเตรียมความพร้อมสำหรับเทศกาลปีใหม่ไปด้วย โดยกรุงเทพมหานครได้ตรวจสอบในเรื่องของความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การเฝ้าระวังปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญจากการเปิดเพลงหรือแสดงดนตรีของกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงเรื่องของกล้องวงจรปิด (CCTV)

ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า  สำหรับพื้นที่ของถนนข้าวสารมีสถานบริการที่มีใบอนุญาตสถานบริการตามมาตรา 3 (1) (2) (3) (4) และ (5)  ด้วยกัน 3 แห่ง ได้แก่ ร้าน The Club ร้าน Molly Bar และร้าน Brick Bar ที่สามารถเปิดบริการได้ถึง 04.00 น. ตามกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการจะยังไม่สามารถเปิดถึง 04.00 น. ได้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมายกับสถานประกอบการที่กระทำผิด 

การตรวจเยี่ยมวันนี้ กรุงเทพมหานครและสน.ชนะสงครามได้มีการตรวจสอบสภาพพื้นที่ อาทิ จุดติดตั้งถังดับเพลิง ความพร้อมของถังดับเพลิงว่าพร้อมใช้งานหรือไม่ ทางหนีไฟ ป้ายบอกทางกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เครื่องมอนิเตอร์วัดระดับความดังเสียง โดยให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการเชื่อมสัญญาณภาพจากกล้อง CCTV ภายในร้านไปยังสถานีตำรวจและสำนักงานเขตด้วย 

ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงเรื่อง CCTV ว่า  กรุงเทพมหานครได้ให้การสนับสนุนตำรวจนครบาล โดยจะเน้นในเรื่องของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยกำลังศึกษากล้องระบบ AI มาใช้ควบคุมดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ หากเกิดเหตุไม่ปกติ เช่น มีคนล้มลงไป มีเหตุชุลมุน ฯลฯ ให้ระบบแจ้งเตือนไปที่ สน. และสำนักงานเขต เพื่อเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่มาตรวจสอบเหตุได้ทันที ซึ่งจะเป็นการลดการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่และทำให้สามารถบริหารจัดการกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยได้ครอบคลุมไปถึงกรณีอุบัติเหตุหรืออาชญากรรมอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนมาตรการของทางตำรวจนั้น พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม (ผกก.สน.ชนะสงคราม) กล่าวว่า  มาตรการที่ทางตำรวจดำเนินการเป็นเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาต่าง ๆ เช่น เมาแล้วขับ ยาเสพติด ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ที่อายุไม่ถึง 20 ปี หรือผู้ที่มึนเมาจนครองสติไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ทั้งนี้ ในวันที่ 20 ธ.ค. 66 จะมีการประชุมหารือหน่วยร่วมปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเพื่อวางกรอบการดำเนินงานร่วมกัน นอกจากนี้ทางตำรวจจะมีมาตรการเสริมในเรื่องของการติดตามมอเตอร์กล้อง CCTV ทั้ง CCTV ในที่สาธารณะซึ่งเป็นงบประมาณของกรุงเทพมหานคร กับกล้อง CCTV ของสถานบริการ

“สำหรับพื้นที่ถนนข้าวสาร เราไม่สนับสนุนให้นำรถส่วนบุคคลมาเที่ยวหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องจากถนนข้าวสารเป็นพื้นที่ที่คนมาเพื่อดื่มแอลกอฮอล์ และเป็นพื้นที่ที่ไม่มีที่จอดรถ ซึ่งหากมีการจอดรถฝ่าฝืนจะถูกบังคับล้อและดำเนินการปรับตามกฎหมาย ผู้ที่จะมาเที่ยวจึงควรใช้รถสาธารณะเท่านั้น” ผกก.สน.ชนะสงคราม กล่าว

ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังลงพื้นที่ว่า  นโยบายเปิดสถานบริการถึง 04.00 น. นั้น หากมองในด้านดีคือสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่ตัวเลขที่จะสูงขึ้นมาต้องคุ้มค่ากับความเสี่ยงด้วย กรุงเทพมหานครจึงต้องพยายามป้องกันในทุกความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ดีแก่นักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งการบันทึกภาพด้วยกล้อง CCTV อาจทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความรำคาญบ้าง แต่กล้อง CCTV จะเป็นหลักฐานที่คุ้มครองความบริสุทธิ์ของเราเมื่อเกิดเหตุได้

ผู้ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ประกอบด้วย นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพระนคร นายไวทยา นวเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสถานีดับเพลิงและกู้ภัยภูเขาทอง สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง