“ซิโน-ไทย”วางเป้าปี67 ชิงบิ๊กโปรเจ็กต์รัฐแสนล้าน

15 ธ.ค. 2566 | 08:43 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2566 | 09:50 น.

“ซิโน-ไทย” วางเป้าปี 67 ชิงโปรเจ็กต์รัฐแสนล้าน ชี้แต่ละปีมีงานในมือ 1.02 แสนล้านจากทั้งอุตสาหกรรม 1.2-1.3 ล้านล้านยันปัจจัยท้าทายรอบด้าน ต้องปรับตัว

 

เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ สำหรับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ผู้รับเหมาชั้นนำของไทย  ได้ปรับโครงสร้างสู่ธุรกิจโฮลดิ้ง ภายใต้ บริษัท สเตคอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2567 โดยมีเป้าหมาย ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเติบโต 10% 

ทั้งนี้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างยังเป็นธุรกิจหลักที่มีสัดส่วนกำไร 50% กำไรจากการลงทุนธุรกิจอื่นๆ อีก 50%  อย่างไรก็ตามในภาพรวมธุรกิจก่อสร้างมีมูลค่าในแต่ละปีประมาณ 1.2-1.3 ล้านล้านบาทถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีเม็ดเงินกระจายลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากและเป้าหมายปี2567 การแข่งขันประมูลงานของรัฐซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่จะออกมาหลายแสนล้านบาท

ขณะความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน มีผลทำให้การลงทุนโครงการของภาคเอกชน ปีหน้าอาจอาจชะลอออกไปทำให้ผู้รับเหมาแทบทุกค่ายต่างหันหัวรบไปเจาะงานประมูลโครงสร้างพื้นฐานรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะงบประมาณปี 2567 ที่คาดการณ์เบิกจ่ายได้ในเดือนเมษายน ปีหน้าและมีโครงสร้างพื้นฐานรัฐออกประมูล

 

เช่นเดียวกับ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ STEC   ที่สะท้อนมุมมองว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างปัจจุบันมีปัจจัยภายนอกที่ ควบคุมค่อนข้างยากและเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นการแพร่ระบาดโควิด-19  ภัยสงคราม  อีกทั้งความล่าช้าของการประมูลงานก่อสร้างภาครัฐ อันเกิดจากการเปลี่ยนรัฐบาล เช่น รัฐบาลในขณะนี้ยังไม่สามารถเบิกเงินงบประมาณประจำปี 2567 เพื่อใช้ลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสาย

สีส้ม ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง, รถไฟรางคู่ขอนแก่น-หนองคาย และ รถไฟทางคู่จิระ-อุบลราชธานี เป็นต้นส่งผลให้การเติบโตของธุรกิจก่อสร้าง เป็นไปอย่างลำบาก เนื่องจากอัตรากำไรสุทธิค่อนข้างตํ่า 3-5% สะท้อนจากราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ของบริษัทอยู่แค่ 15 เท่า ซึ่งเป้าหมายระยะยาวบริษัทต้องการ P/E ที่ 20-25% เป็นสาเหตุ ให้บริษัทต้อง มองหาธุรกิจที่เติบโตสูงในอนาคต และเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ โดยมองโอกาสทางธุรกิจในไทย อาทิ ธุรกิจพลังงาน สาธารณูปโภค อาทิ โรงไฟฟ้า และคมนาคมขนส่ง เป็นต้น

ภาคภูมิ ศรีชำนิ

ธุรกิจก่อสร้างไทยมีมูลค่าต่อปีประมาณ 1.2-1.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงานก่อสร้างภาครัฐ และเอกชนในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ด้วยความที่ประเทศจะต้องใช้เงินกู้ มีภาระประจำที่ต้องใช้งบประมาณใปลงทุนอื่นๆ ดังนั้นเชื่อว่างบลงทุนของภาครัฐ รวมถึงเอกชนในระยะหลายปีข้างหน้า คงไม่เพิ่มมาก ประกอบกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีรายได้ระดับแสนล้านบาทมักเริ่มมีปัญหาในการควบคุมต้นทุน 

จากประสบการณ์ของบริษัทพบว่าความสามารถในการทำกำไรสุทธิที่ดีที่สุดอยู่ที่ระดับรายได้ปีละ 40,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งบริษัทมีความพร้อมในการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ เนื่อง จากบริษัทไม่มีหนี้ระยะยาวเลย สำหรับบริษัท มีมูลค่างานก่อสร้างในมือประมาณ 1.2-1.3 แสนล้านบาท ปี 2566  สามารถรับรู้รายได้ ประมาณ 20,000 ล้านบาท  และปี 2567 ยังมีแผนเตรียมประมูลงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เน้นงานก่อสร้างอาคารของภาคเอกชนเนื่องจากมีการตัดราคากันสูง และมีลดน้อยลง