เปิดคำสั่ง ปศุสัตว์ ยึดซากหมูเถื่อน บ.ศิขัณทิน

07 ธ.ค. 2566 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2566 | 17:06 น.
3.5 k

เปิดคำสั่งกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ ปัดตก คำอุทธรณ์ บ.ศิขัณทิน เทรดดิ้ง ฯ ยืนยันคำสั่งทางปกครองทำลายซากสัตว์-ของกลางเนื้อหมู 39 ตู้ ไม่ตัดสิทธิ์ยื่นศาลปกครองขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว

ปมปัญหากองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ มีคำสั่งทำลายซากสุกร จนนำไปสู่การฟ้องร้องระหว่างนายบริบูรณ์ ลออปักษิณ กรรมการผู้จัดการบริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด กับกรมปศุสัตว์ต่อศาลปกครองกลาง เรียกค่าเสียหายจำนวน 39 ตู้ วงเงิน 246 ล้านบาท รวมถึงจะฟ้องร้องความเสียหายในส่วนของบริษัทสมาย ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด จำนวน 2 ตู้ ในสัปดาห์หน้า 

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบหนังสือยืนยันคำสั่งให้ทำลายซากสัตว์ของกลางการทำลายซากสุกร 38 ตู้ บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด ของกองสารวัตรและกักกัน ด่วนที่สุด ที่ กษ 0621/7068 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ถึงนายบริบูรณ์ พบว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 บริษัท ศิขันทิน เทรดดิ้ง จำกัด ได้ยื่นหนังสือขออุทธรณ์คำสั่งการทำลายซากสุกรทั้ง 38 ตู้ ของที่บริษัทฯ ได้นำเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่กองสารวัตรและกักกันพิจารณาการขออุทธรณ์คำสั่งของบริษัทแล้วไม่เห็นด้วยกับข้ออุทธรณ์

กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ ระบุในหนังสือว่า เนื่องจากซากสัตว์ดังกล่าวที่บริษัทฯ นำเข้ามานั้นเป็นซากสัตว์ที่นำเข้ามาโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และมีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจรับรองแหล่งผลิตจากกรมปศุสัตว์ และไม่มีหนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ (Health Certificate) จากหน่วยงานที่รับผิดชอบย่อมอยู่ในนิยาม “ซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาด” ตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการทำลายหรือจัดการด้วยวิธีอื่นซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ที่นำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ.2563 

เมื่อซากสุกรดังกล่าวเป็นซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดแล้ว จึงอยู่ในนิยามตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ด้วย กล่าวคือ เป็น “ซากสัตว์ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีเชื้อโรคระบาด” กรมปศุสัตว์จึงมีอำนาจในการทำลายซากสัตว์ดังกล่าวได้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 40 (4) และมาตรา 42 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติ โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 อีกทั้งซากสัตว์ดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 และกรมศุลกากรได้ส่งมอบเพื่อให้กรมปศุสัตว์นำไปทำลายแล้ว

ด้วยเหตุดังกล่าวกองสารวัตรและกักกัน จึงไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ของบริษัทฯ และขอยืนยันคำสั่งทางปกครองให้มีการทำลายซากสัตว์ของกลางดังกล่าวตามเดิม เนื่องจากการขออนุญาตนำเข้าซากสัตว์เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง การขออนุญาต การออกใบอนุญาต วิธีการ นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ พ.ศ.2558

อีกทั้ง ซากสัตว์ดังกล่าวถือเป็นสินค้าต้องกำกัดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ซึ่งท่านไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า เจ้าหน้าที่จึงอายัดไว้และท่านมิได้ร้องขอคืนภายใน 30 วัน จึงตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 แล้ว 

ดังนั้น กองสารวัตรและกักกันขอแจ้งให้ท่านทราบ หากท่านไม่เห็นด้วยกับคำสั่งยืนยันการอุทธรณ์ดังกล่าวให้ดำเนินการใช้สิทธิทางศาลโดยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองอย่างใดๆ เพื่อทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองตามข้อ 69 หรือเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามข้อ 75 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ตามที่ท่านเห็นสมควร และท่านต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างดำเนินการจนกว่าจะทราบผลการพิจารณาอุทธรณ์ และจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด