คลังชี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำศักยภาพ คาดปี 67 ขยายตัว 3%

27 พ.ย. 2566 | 16:41 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2566 | 16:41 น.

คลังชี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ คาดปี 67 ขยายตัวกว่า 3% แนะเร่งนำเทคโนโลยีสู่การผลิต เพิ่มทักษะแรงงาน จับตาปัจจัยเสี่ยง “ภูมิรัฐศาสตร์-การเงินโลก-เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน”

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้ออนาคตเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ในงานเสวนา“ปากท้องคนไทยจะเป็นอย่างไรในปี 2567”  รดน้ำที่ราก เพื่อให้ต้นไม้งอกงามทั้งต้น ว่า แม้เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ จะมีการเติบโต แต่ถือว่า อัตราการเติบโตอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพและยังชะลอลง 

ดังนั้น จำเป็นต้องเร่งการเจริญเติบโตให้เต็มศักยภาพ โดยนอกจากจะกระตุ้นในฝั่งดีมานด์แล้ว ยังต้องด้านซัพพลาย หรือฝั่งปัจจัยการผลิตด้วย ซึ่งในส่วนของการผลิตนั้น จำเป็นต้องเร่งนำเทคโนโลยีมาใช้พร้อมกับการพัฒนาทักษะแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  

“เศรษฐกิจไทยนั้น แม้จะเติบโตได้ แต่ก็โตลดลงเรื่อยๆ  โดยระยะ 20 ปีที่ผ่านมา จากเคยเติบโต 5-6% ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 แต่จากนั้น ก็เติบโตไม่ได้มากมายนัก โดย 5 ปีที่ผ่านมา โตเฉลี่ยได้ไม่ถึง 1% ฉะนั้น ภาพเศรษฐกิจไทย อาจเรียกได้ว่า ยังไม่น่าตื่นเต้นมากนัก”

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจไทยจะมีพื้นฐานดีก็ตาม ไม่ว่าการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันเรามีอันดับดีทุกด้าน แต่เราก็ยังเป็นรองเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ และ มาเลเซีย

นายกฤษฎา กล่าวว่า ต้องยอมรับ ว่าเศรษฐกิจไม่แน่นอนนั้น มาจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่คุกรุ่นในตะวันออกกลาง การเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียก็โตไม่สม่ำเสมอ การเงินโลกตึงตัว การเคลื่อนย้ายเงินทุนผันผวน บวกกับ ปัจจัยเสี่ยงภายใน 

เช่น โครงสร้างประชากรสูงวัยสมบูรณ์ที่ 20% เด็กเกิดใหม่ลดลงเร็ว นำไปสู่ขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรและบริการ โดยภาคเกษตรอายุเฉลี่ยเกินกว่า 50 ปี เมื่อจำนวนแรงงานลดลง ฐานรายได้อาจมีประเด็นเรื่องการจัดเก็บรายได้ที่ลดลง 

นอกจากนี้ ในเรื่องของเม็ดเงินลงทุนนั้น ก็จะเห็นว่า การลงทุนอยู่ที่กว่า 25% ต่อจีดีพี มา 20 ปีแล้ว ถือว่า เป็นความเสี่ยงเชิงโครงสร้าง ขณะเดียวกัน ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็อยู่ในระดับสูงกว่า 80%ต่อจีดีพี มานานนับ 10 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ 90% ต่อจีดีพี ส่งผลให้การใช้จ่ายครัวเรือนไม่สะดวกสบาย รวมถึง ระดับการออม และลงทุนครัวเรือน 

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในปี 67 นั้น คาดว่า จะขยายตัวได้มากกว่า 3% แต่ยังไม่นับรวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ดี เราคงต้องดูปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อเศรษกิจไทย คือ เศรษฐกิจโลก ซึ่งทราบดีว่า วันนี้มีการทำนายจากหน่วยงานต่างๆว่า ปี 66 เศรษฐกิจจะเติบโตได้ 3% ส่วนปี 67 จะลดลงเหลือ 2.9% 

ขณะที่ หลายประเทคู่ค้า เช่น สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น มีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับ ค่าเงินนั้น เราคาดว่า จะทรงตัวที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัญญาณว่า มูลค่าการค้าของไทยจะทรงตัว

"ฉะนั้น การที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนไม่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าไปด้วย โดยคาดปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 27-28 ล้านคน ปีหน้า คาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 34 ล้านคน แต่ยังไม่กลับไปสู่อัตราเดิมในช่วงก่อนโควิด"

ด้านภายในประเทศ เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังดี โดยอัตราเฟ้อต่ำที่สุดในอาเซียน หากจำได้ในปี 65 เศรษฐกิจไทยเจอภูมิรัฐศาสตร์ สินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก โดยเงินเฟ้อเราเองก็เคยสูงสุดในภูมิภาคในช่วงกลางปี 65 แต่ก็ปรับลงเร็ว และปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ภายใน 7 เดือน การที่อัตราเงินเฟ้อกลับมาเร็วทำให้การบริหารเศรษฐกิจทำได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น 

ทั้งนี้ ในปี 67 คาดอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.5% โดยที่คาดว่า น้ำมันดิบเฉลี่ยทรงตัว 80-90 เหรียญต่อบาร์เรล ใกล้เคียงปี 66 ยังเป็นสัญญาณที่ดี หากราคาพลังงานมีแนวโน้มระดับนี้  จะทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อลดลง อย่างไรก็ดี ต้องดูปัจจัยเสี่ยงที่มากระทบต่อเงินเฟ้อ ทั้งภูมิอากาศ ภัยพิบัติ เป็นต้น ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิด เพราะมีผลต่ออุปทาน ทั้งราคาสินค้าเกษตรและมาตรการกระตุ้นบริโภค

ด้านเสถียรภาคการคลังนั้น ถือว่า อยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงไตรมาสสามอยู่ที่ 19.9% หนี้สาธารณะจีดีพีอยู่ที่ 62%ต่อจีดีพี ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวิรัยการเงินการคลัง โดยหนี้สาธารณะนั้น มาจากหลายส่วน มีส่วนหนึ่งเป็นของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งหนี้ก้อนนี้ ไม่ได้นำงบประมาณมาชำระ ขณะเดียวกัน ยังมีหนี้รัฐวิสาหกิจที่เขามีความสามารถชำระหนี้ ไม่ได้เป็นภาระรัฐบาล ฉะนั้น ก็ไม่น่าห่วง