"ปตท."รุกดันสินค้าเกษตรขยายเส้นทางส่งออกระบบราง นำร่องเส้นทางไทย–จีน

23 พ.ย. 2566 | 14:23 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2566 | 14:23 น.

"ปตท."รุกดันสินค้าเกษตรขยายเส้นทางส่งออกระบบราง นำร่องเส้นทางไทย–จีน ส่ง GML ร่วมมือ อ.ต.ก. มุ่งสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ส่งเสริมสินค้าเกษตรไทยเข้าสู่ตลาดการค้าต่างประเทศ

นายชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (GML) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) 

ทั้งนี้ เพื่อขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านระบบการขนส่งทางราง รวมถึงมุ่งสร้างเครือข่ายด้านโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้สินค้าเกษตรของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดการค้าต่างประเทศ 

นายไกรยสิทธิ์ อินทรพาณิชย์ รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ GML กล่าวว่า ปัจจุบัน GML ได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการขนส่งสินค้าไทยไปยังต่างประเทศต่างในภูมิภาค เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาชนลาว กัมพูชา 

สำหรับความร่วมมือดังกล่าวนี้ GML และ อ.ต.ก. จะนำศักยภาพของทั้ง 2 องค์กรมาสนับสนุนการขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย ผ่านระบบขนส่งทางรางไปยังประเทศเป้าหมาย 

"ปตท."รุกดันสินค้าเกษตรขยายเส้นทางส่งออกระบบราง นำร่องเส้นทางไทย–จีน

โดย GML จะบริหารจัดการระบบการขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่แข่งขันได้ และอ.ต.ก. จะเป็นผู้จัดหาสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพ ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกและกระจายสินค้าของประเทศไทยสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธรัฐรัสเซีย รวมทั้งประเทศในกลุุุุ่มยุโรป เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง

นายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการ อ.ต.ก. กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น โดยจะดำเนินการส่งสินค้าเกษตรผ่านระบบการขนส่งทางรถไฟไทย-จีน ซึ่งสอดรับกับโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road (OBOR) หรือ แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบกของจีน ที่ผลักดันการเชื่อมโยงและเส้นทางการค้าระหว่างประเทศสู่ภูมิภาคต่าง ๆทั่วโลก  

สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขยายตลาดสินค้าเกษตรในต่างประเทศ ซึ่ง อ.ต.ก.เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพด้านการตลาดสินค้าเกษตร และพร้อมที่จะผลักดันนโยบายดังกล่าว สร้างโอกาสในการจำหน่ายให้แก่เกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้สินค้าเกษตรไทยสามารถเข้าสู่ตลาดการค้าต่างประเทศได้มากขึ้น 

"เส้นทางการค้าทางรถไฟจากประเทศไทยสู่ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะผลไม้ไทย เช่น ทุเรียน กล้วยไข่ มังคุด และ ส้มโอ ซึ่งมีปริมาณการนำเข้า ไม่น้อยกว่า 20,000 ตัน/ปี  โดย อ.ต.ก. จะดำเนินการจัดส่งข้าวหอมมะลิ ลำไยสด ลำไยอบแห้ง นำร่องไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนผ่านการขนส่งทางราง"