“คดีจำนำข้าว” หลอน แบงก์ลดวงเงินโรงสี 50% ทำขาดสภาพคล่อง

17 พ.ย. 2566 | 11:46 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ย. 2566 | 11:46 น.
1.1 k

“คดีจำนำข้าว” ยังพ่นพิษไม่เลิก โรงสีโดนหางเลข “สถาบันการเงิน” หลอน ปรับลดวงเงินสินเชื่อเหลือ 50% ทำขาดกำลังซื้อ ฉุดราคาข้าวเปลือกหอมมะลิร่วงใกล้เคียงราคาข้าวเปลือกเจ้า “นบข.” ทุบโต๊ะขยายเวลาปิดบัญชีจนกว่าคดีจะสิ้นสุดในชั้นศาล

พลิกแฟ้มคดีจำนำข้าว ผ่านไป 12 ปีกว่า นับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้แถลงต่อรัฐสภาว่า นโยบายรับจำนำข้าวเป็น 1 ใน 16 นโยบายเร่งด่วนที่พรรคเพื่อไทยให้สัญญาไว้กับประชาชนไว้ตอนเลือกตั้งว่า จะเร่งดำเนินการทันที

“คดีจำนำข้าว” หลอน แบงก์ลดวงเงินโรงสี 50% ทำขาดสภาพคล่อง

แบ่งเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิรับจำนำ (ขายขาด) ตันละ 20,000 บาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัดตันละ 18,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานีตันละ 16,000 บาท และข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้นกว่า 50% ทำให้เกิดการฉกฉวยโอกาส เล่นกล ซ่อนปมลับ ลัดขั้นตอนจนทำให้เกิดการทุจริตในการระบายข้าว และคดีความต่าง ๆ มากมาย ทั้งกับโรงสี เจ้าของคลังสินค้า เซอร์เวเยอร์ นักการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กลายเป็นมหากาพย์จำนำข้าวมาจนถึงทุกวันนี้ ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ

 

“คดีจำนำข้าว” หลอน แบงก์ลดวงเงินโรงสี 50% ทำขาดสภาพคล่อง

นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาสมาชิกที่ประกอบการคลังสินค้าในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คดีในโครงรับจำนำข้าวยังไม่จบ ที่ผ่านมามีเจ้าของคลัง (โกดัง) ข้าวที่ถึงแก่กรรมไม่ได้สู้คดีก็แพ้ไป ส่วนคนที่ต่อสู้คดี ศาลก็ได้ดำเนินคดีความกับคู่สัญญาของตัวแทนภาครัฐในการรับจำนำข้าว คือ องค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

 

โดยคู่สัญญา หรือผู้ประกอบการที่ชนะคดีเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามสัญญาอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันทางสมาคมโรงสีข้าวไทยได้เข้าไปช่วยสมาชิกในชั้นศาลปกครอง คาดจะใช้เวลาไม่นานนับจากนี้ที่ศาลจะตัดสินออกมา เนื่องจากผู้ประกอบการคลังกลางไม่ได้มีส่วนรู้เห็นจะปฏิบัติตามสัญญาส่วนใหญ่จะถูกต้องทั้งหมด และมีโอกาสที่จะชนะคดีได้ แต่ยอมรับว่ายังมีโรงสีอีกกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหา ก็ต้องให้ศาลพิจารณาไต่สวน และวินิจฉัย อย่างไรก็ดีผลจากโครงการฯ ทำให้โรงสีล้มหาย และเลิกกิจการในช่วงที่ผ่านมาไปมากกว่า 30-40%

“คดีจำนำข้าว” หลอน แบงก์ลดวงเงินโรงสี 50% ทำขาดสภาพคล่อง

 “คดีดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อวงสินเชื่อเงินกู้ของสถาบันการเงินที่ให้ชะลอการปล่อยสินเชื่อแก่โรงสี อย่างปีนี้ผู้บริหารของสถาบันการเงินยังวิตก และปรับลดเพดานสินเชื่อลงเยอะมากเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทย ลดลงมาสูงสุด 50% ตํ่าสุด 30% ก็อยากจะชี้แจงและทำความเข้าใจว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของภาครัฐที่อาจจะเกิดความบกพร่องในอดีต แต่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับโรงสีในปัจจุบัน “สถานการณ์ราคาข้าวใน ปัจจุบันเป็นที่น่าตกใจ โดยราคาข้าวเปลือก ณ วันที่ 13 พ.ย. 66 ข้าวหอมมะลิเกี่ยวสด 12,000-13,000 บาทต่อตัน ใกล้เคียงกับราคาข้าวเปลือกเจ้าเกี่ยวสดอยู่ที่ 11,000-11,300 บาทต่อตัน"

“คดีจำนำข้าว” หลอน แบงก์ลดวงเงินโรงสี 50% ทำขาดสภาพคล่อง

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากไม่มีความมั่นใจว่าจะมีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าว เป้าหมาย 2 ล้านตัน จาก ปริมาณ 8.5 ล้านตัน แต่พอมีจะเริ่มมีโครงการ เกษตรกรแทนที่จะขายก็เริ่มตากข้าวแทน ก็ต้องมาติดตามว่า ธ.ก.ส.จะจ่ายเงินในโครงการฯ เร็วหรือไม่ ถ้าจ่ายเร็ว ราคาข้าวก็คงจะหยุดไหลลง ขณะที่ยังมีข้าวส่วนเกินอยู่อีก 6.5 ล้านตัน คิดเป็นเงินประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท สวนทางกับสภาพคล่องของโรงสีที่ไม่เพียงพอ ถ้าเงินหมดก็จบกัน และอีกด้านข้าวหอมมะลิที่ออกมาก็ไปกดราคาข้าวเจ้าเกี่ยวสดอีก

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) กล่าวว่า นบข. ได้มีมติขยายระยะเวลาดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล ของ อคส.และอ.ต.ก. จากสิ้นสุดเดือนกันยายน ปี 2566 เป็นจนกว่า “คดีจะสิ้นสุดในชั้นศาล” ปัจจุบัน ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2566 มีคดีรวมทั้งสิ้น 1,524 คดี แบ่งเป็นของ อคส. 1,143 ดคี และ อ.ต.ก. 381 คดี คงเหลือข้าวสารในคลังกลางของรัฐ 42,101.093 ตัน และมีคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว จำนวน 120 คดี (อคส.98 คดี ,อ.ต.ก. 22 คดี) (ดูกราฟิกประกอบ)

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,940 วันที่ 16-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566