คลัง ซุ่มทำ "ร่างพ.ร.บ.กู้ 5 แสนล้าน" จ่อชงเข้าครม. ลุยแจกเงินดิจิทัล

16 พ.ย. 2566 | 15:23 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2566 | 16:23 น.

“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง แจงเหตุผลออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แจกเงินดิจิทัล มั่นใจกฎหมายผ่าน คาดชงครม.ภายในปี 66 พร้อมสร้างกลไกให้เม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจนานที่สุด

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างร่างกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท โดยจะเสนอให้กฤษฎีกาตามขั้นตอนของกฎหมาย และคาดว่าจะแล้วเสร็จ เพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปี 66 นี้

ส่วนหากกรณีพ.ร.บ.กู้เงินไม่ผ่านนั้น ยอมรับว่าขณะนี้ไม่ได้มีแผนสำรอง เนื่องจากเชื่อว่าจะสามารถทำให้ผ่านได้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง “กรณีที่มีการวิจารณ์ว่าเดินไปทางนี้ เพื่อให้โครงการออกมาไม่ได้ ยอมรับว่าไม่มีใครคิดเช่นนั้น เรามีหน้าที่ในการเดินหน้าโครงการ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ และดูแลประชาชน เราเชื่อมั่นว่าสามารถเดินต่อไปได้ การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และการออกพ.ร.บ. หรือการใช้งบประมาณปกติ ก็ผ่านขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ซึ่งเดินทางไหนก็เจออุปสรรค รัฐบาลมองว่าช่องทางนี้เป็นช่องทางที่ดีที่สุด และเราก็รับฟังความคิดเห็นมาแล้ว”

ทั้งนี้ ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้มีแนวคิดที่จะใช้งบประมาณผูกพันไปก่อน แต่ไม่สามารถดำเนินการได้หากยัดวงเงิน 5 แสนล้านบาทลงในงบประมาณแผ่นดิน และจะมีภาระหนี้สูง ส่วนการออกพ.ร.ก. เป็นเรื่องที่ฝ่ายกฎหมายใช้อำนาจออกกฎหมายมา และมีผลบังคับใช้ แล้วจึงไปขออนุมัติ ซึ่งอาจจะมีการวิจารณ์ว่าโครงการดังกล่าวไม่โปร่งใส จึงได้ออกพ.ร.บ.กู้เงินมา ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากรัฐสภา และวุฒิสภา ทั้งนี้ หากมีผู้ยื่นตีความ เช่น ปปช. ก็พร้อมที่จะไปชี้แจง

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การใช้เงินดิจิทัล วอลเล็ต เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งใช้วงเงินครั้งแรก 6 เดือน คาดว่าจะอยู่ในระบบหมุนเวียนของเศรษฐกิจนาน 2-3 ปี และจะให้การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้น โดยจะมีการสร้างกลไกให้เม็ดเงินหมุนอยู่ในระบบได้นาน

ทั้งนี้ ภาระหนี้รัฐบาลจะเกิดเมื่อมีร้านค้าตัดสินใจไปขึ้นเงินสด ซึ่งจะอยู่หลังจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฉะนั้น หนี้สาธารณะจะลดลงทันที และไปเกิดหนี้สินหลังจากนั้น มองว่าจะไม่มีความรุนแรง และคาดว่าหนี้สาธารณะจะอยู่ในกรอบไม่เกินสัดส่วนปัจจุบัน   

นอกจากนี้ หากพ.ร.บ.กู้เงินผ่านแล้ว จะใช้กลไกการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตร เชื่อว่าขณะนี้มีสภาพคล่องเพียงพอ โดยวงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ยืนยันว่า จะไม่มีการกู้เงินมากองไว้ โดยจะมีการใช้เงินคงคลังออกไปก่อน และจากนั้นจะทำการกู้เงินตามพ.ร.บ.กู้เงิน ตามการบริหารจัดการทั่วไป