ครม. ขยายเวลาออกกฎหมายลูก 9 ฉบับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอีก 1 ปี

14 พ.ย. 2566 | 14:55 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ย. 2566 | 14:58 น.

ครม.มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 รวม 9 ฉบับออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 2566

14 พฤศจิกายน 2566 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำนวน 9 ฉบับ ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอการจัดทำกฎหมายลำดับรอง 9 ฉบับ ได้แก่

1) พระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการให้กิจการที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 10 คนเป็นสมาชิกของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

2) พระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการกำหนดเวลาเริ่มให้มีการส่งเงินสะสมและเงินสมทบให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

3) กฎกระทรวงเกี่ยวกับการให้นายจ้างจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย

4) กฎกระทรวงเกี่ยวกับอัตราเงินสะสม และเงินสมทบที่จะต้องส่งให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

5) ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเกี่ยวกับการให้ลูกจ้างที่มิได้อยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

6) ประกาศหรือระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเกี่ยวกับแบบหลักเกณฑ์ และวิธีการยื่นขอเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขแบบรายการแสดงรายชื่อลูกจ้างและการออกหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนให้แก่นายจ้าง

7) ประกาศหรือระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเกี่ยวกับการนำส่งเงินสะสม เงินสมทบ และเงินเพิ่มเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

8) ประกาศหรือระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินเงินสะสมและเงินสมทบที่นายจ้างต้องนำส่งกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

9) ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับแบบหนังสือกำหนดบุคคลผู้พึงได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กรณีลูกจ้างตาย 
 
ทั้งนี้ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การเก็บเงินสะสมของลูกจ้างและเงินสมทบของนายจ้างเข้าสู่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่ต้องพิจารณาศึกษาปัจจัยอย่างรอบด้าน เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ลูกจ้างและนายจ้าง

ตลอดจนพิจารณาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและแนวโน้มของปัจจัยในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะในประเด็นภาวะหนี้ครัวเรือนต่อสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี พ.ศ. 2565 และอัตราค่าครองชีพประกอบการพิจารณาด้วย จึงมีความจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรอง ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566