เคลียร์ JKN แอน จักรพงษ์ "ฟื้นฟูกิจการ" ไม่ใช่ "ล้มละลาย"

10 พ.ย. 2566 | 05:45 น.
2.5 k

ทำความเข้าใจ "ขอฟื้นฟูกิจการ" ต่างอย่างไร "ล้มละลาย" หลัง JKN บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป อาณาจักรของ แอน จักรพงษ์ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง

จักรวาลสะเทือนอีกครั้ง หลังจากที่ราคาหุ้น JKN หรือ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN ) เปิดตลาดดิ่งฟลอร์ ในเช้าของวันที่ 9 พ.ย.66 โดยเปิดซื้อขายที่ 0.76 บาท ลดลง 0.33 บาท หรือลดลง 30.28 % จากราคาปิดเมื่อวันที่ 8 พ.ย.66ที่  1.09 บาท 

สาเหตุจากเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2566 บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN อาณาจักรของ "แอน จักรพงษ์" หรือ นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 ซึ่งมี "แอน จักรพงษ์" เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ

"แอน จักรพงษ์" หรือ นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ JKN

"ขอฟื้นฟูกิจการ" ต่างกับ "ล้มละลาย"

แม้ในการชี้แจง จะปรากฏข้อความทั้ง"การขอฟื้นฟูกิจการ" และ "ศาลล้มละลาย" ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย จึงนำมาสู่ความเข้าใจที่สับสนว่า "การยื่นขอฟื้นฟูกิจการ" คือ"การยื่นขอล้มละลาย"
 
แต่แท้ที่จริงแล้วการฟื้นฟูกิจการ กับการล้มละลายเป็นคนละเรื่องกัน จากบทความของนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุถึงความแตกต่างไว้ว่า "การฟื้นฟูกิจการ" ถือเป็นการรักษาให้กิจการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติต่อไป ในขณะที่ "การล้มละลาย" หรือถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ทำความเข้าใจ "การล้มละลาย"

"การล้มละลาย" หรือ การถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ คือการที่ศาลมีคำสั่ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี เข้ามาทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ เพื่อค้นหาและรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้นำมาแบ่งให้กับเจ้าหนี้ โดยการยึดหรืออายัด และนำมาขายทอดตลาด ดังนั้นธุรกิจที่มีคำสั่งศาลให้ล้มละลาย จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ทำความเข้าใจ "การฟื้นฟูกิจการ"

"การฟื้นฟูกิจการ" ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2559 (การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้) ถือเป็นการรักษาให้กิจการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ผู้ยื่นขอให้มีการฟื้นฟูกิจการต้องการรักษาความเป็นกิจการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง (going concern) มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ 

และต้องมีการเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนธุรกิจ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาจมีผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกบริษัทมาร่วมดำเนินการด้วย

โดยเมื่อศาลสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการ สภาวะการพักการชำระหนี้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า automatic stay เกิดขึ้นทันทีนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

เงื่อนไข การยื่นขอฟื้นฟูกิจการ 

การยื่นขอฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2559 เป็นครั้งแรกที่ธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้เช่นเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่ โดยทั้งเจ้าหนี้ หรือลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ และไม่ต้องรอจนถึงกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแบบเดิม โดยเงื่อนไขในการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ มีดังนี้

1. ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือลูกหนี้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ (inability to pay) 2. เป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียว หรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ในกรณีของธุรกิจขนาดใหญ่ หรือในกรณีที่เป็นธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) คือลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท 

ลูกหนี้ที่เป็นคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท หรือลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัดไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท 

3. หนี้จำนวนแน่นอนดังกล่าว จะถึงกำหนดชำระในทันทีหรือในอนาคตก็ได้ 

4. มีเหตุอันสมควร และมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ 

รู้จัก แผนฟื้นฟูกิจการ

การจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และบริหารกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ต้องกระทำโดย "ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน" โดยต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด

"ผู้ทำแผน" หมายถึง ผู้ที่ศาลมีคำสั่งตั้งเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการ และทรัพย์สินของลูกหนี้ และสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ตกแก่ผู้ทำแผน ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล

โดยต้องมีประสบการณ์ในการรับจัดกิจการและทรัพย์สินของผู้อื่น มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หรือที่ปรึกษาทางบัญชี หรือที่ปรึกษาทางกฎหมาย ผู้บริหารของนิติบุคคล ต้องมีจริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานที่รัดกุมและเชื่อถือได้

เป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียน และการกำหนดคุณสมบัติผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ ลูกหนี้อาจขอเป็นผู้ทำแผนเองก็ได้

การฟื้นฟูกิจการ ต่างกับ การล้มละลาย

หากศาลเห็นว่าผู้ที่เสนอเป็นผู้ทำแผนยังไม่สมควรเป็นผู้ทำแผน หรือมีการคัดค้าน ศาลจะสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดประชุมเจ้าหนี้โดยเร็ว เพื่อให้เจ้าหนี้ได้ลงมติในการเลือกผู้ทำแผน และเมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้เลือกผู้ทำแผนได้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องรายงานศาลทราบเพื่อพิจารณามีคำสั่งต่อไป

แต่หากยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน เมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ กฎหมายกำหนดให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารของลูกหนี้สิ้นสุดลง และให้ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลใด หรือหลายคน หรือผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว โดยมีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป ทั้งนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จนกว่าจะมีการตั้งผู้ทำแผน 

"ผู้บริหารแผน" หมายถึงผู้จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ มีสิทธิและอำนาจหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ผู้บริหารแผนได้รับทราบคำสั่งศาลที่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการ 

ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูกิจการที่เป็นความตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผน และศาลมีคำสั่งเห็นชอบ โดยกฎหมายกำหนดให้แผนฟื้นฟูกิจการมีรายละเอียดต่าง ๆ โดยเฉพาะหลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ อันประกอบด้วย

ขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการ 

  • การชำระหนี้ 
  • การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ 
  • การลดจำนวนหนี้ลง 
  • การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ 
  • การลดทุนและเพิ่มทุน 
  • การก่อหนี้และระดมเงินทุน 
  • แหล่งเงินทุน และเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุน 
  • การจัดการ และการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้ 
  • เงื่อนไขการจ่ายเงินปันผล และประโยชน์อื่นใด 
  • แนวทางแก้ปัญหาในกรณีขาดสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างการปฏิบัติตามแผน