"คาราบาว" เปิดตำนานบทใหม่ตลาดเบียร์ ส่ง 2 แบรนด์ ไล่บี้ "ช้าง-สิงห์"

09 พ.ย. 2566 | 17:40 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2566 | 18:40 น.
875

กลุ่มคาราบาว เปิดตำนานบทใหม่ เขย่าตลาดเบียร์ 2.6 แสนล้าน ขยับตัวครั้งใหญ่สุดในรอบ 20 ปี ทุ่ม 4,000 ล้าน ส่ง 2 แบรนด์ “คาราบาว - ตะวันแดง” ชิงส่วนแบ่งตลาด "ช้าง -สิงห์"

นายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “กลุ่มคาราบาว” เปิดเผยว่า บริษัทรุกทำตลาดครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ด้วยการเปิดตัวเบียร์ 2 แบรนด์ คือ “คาราบาว” และ “ตะวันแดง” พร้อมบุกตลาดเบียร์มูลค่า 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นตลาดเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยเงินลงทุน 4,000 ล้านบาท ในการสร้างโรงงานผลิตเบียร์ที่จังหวัดชัยนาท ด้วยเทคโนโลยีการผลิตมาตรฐานโลกจากเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 400 ล้านลิตร ช่วงแรกนำร่องการผลิตที่ 200 ล้านลิตร ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุด 

\"คาราบาว\" เปิดตำนานบทใหม่ตลาดเบียร์ ส่ง 2 แบรนด์ ไล่บี้ \"ช้าง-สิงห์\"

 พร้อมปูพรมการตลาดแบบครบวงจร เพื่อให้แบรนด์เข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคทั่วประเทศให้เร็วที่สุด ในด้านตำแหน่งทางการตลาด ทั้ง 2 แบรนด์จะลงเล่นในเซ็กเมนต์อีโคโนมี และสแตนดาร์ด ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของตลาดเบียร์มากกว่า 90% โดย “คาราบาว” วางในเซ็กเมนต์อีโคโนมีถึงสแตนดาร์ด ส่วน “ตะวันแดง” วางในเซ็กเมนต์สแตนดาร์ดถึงพรีเมียม เพื่อสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคครอบคลุมในทุกกลุ่ม โดยตั้งเป้าขึ้นเป็นผู้เล่นหลัก 1 ใน 3 ของตลาดเบียร์

“ปัจจุบันตลาดเบียร์มีเพียงแบรนด์ยักษ์ใหญ่ไม่กี่แบรนด์ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกมากนัก ในขณะที่มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องการดื่มเบียร์หลากหลาย แต่เบียร์เหล่านี้มักเป็นเบียร์นำเข้าที่มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้โอกาสเข้าถึงมีน้อย จึงถือเป็นช่องว่างทางการตลาดที่ยังไม่มีใครกล้าเข้ามาเล่น สิ่งนี้ถือเป็นโอกาสของกลุ่มคาราบาว ในการนำเสนอทางเลือกใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ และจะทำให้ก้าวสู่การเป็นผู้เล่นหลัก 1 ใน 3 ของตลาดเบียร์ สำหรับเบียร์ภายใต้ “กลุ่มคาราบาว” ประกอบด้วย "คาราบาว เบียร์" 2 รสชาติ ได้แก่ Lager Beer (เบียร์ลาเกอร์) และ Dunkel Beer (เบียร์ดุงเกล) ขณะที่แบรนด์ "ตะวันแดง เบียร์"  3 รสชาติ ประกอบด้วย Weizen Beer (เบียร์ไวเซ่น) Rose Beer (เบียร์โรเซ่) และ IPA Beer (เบียร์ไอพีเอ) แม้แบรนด์หลักในตลาดเบียร์ จะครองส่วนแบ่งกว่า 80% ถือเป็นความท้าทายของกลุ่มคาราบาว กลยุทธ์หลักในช่วงแรกจะมุ่งเอ็ดดูเคทตลาดถึงมาตรฐานใหม่ของเบียร์ขั้วที่ 3 เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ โดยทุ่มงบการตลาดมากที่สุดในรอบ 20 ปีนับตั้งแต่เปิดตัวเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” เตรียมกิจกรรมการตลาดอย่างครบเครื่องในทุกช่องทาง"

\"คาราบาว\" เปิดตำนานบทใหม่ตลาดเบียร์ ส่ง 2 แบรนด์ ไล่บี้ \"ช้าง-สิงห์\"

 

ปัจจุบันตลาดเบียร์มีเพียงแบรนด์ยักษ์ใหญ่ไม่กี่แบรนด์ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกมากนัก ในขณะที่มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องการดื่มเบียร์หลากหลาย แต่เบียร์เหล่านี้มักเป็นเบียร์นำเข้าเท่านั้น

นายเสถียร เสถียรธรรมะ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญคือ การตัดสินใจต่อสัญญาเป็นผู้สนับสนุนหลักการแข่งขันฟุตบอล Carabao Cup ต่อไปอีก 3 ปี กับ English Football League (EFL) จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2024 ซึ่งจะทำให้คาราบาวเป็นสปอนเซอร์หลักฟุตบอล Carabao Cup ไปจนถึงปี 2027 ซึ่งถือว่ายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของ EFL และเพื่อเป็นการสานต่อกลยุทธ์ Sport Marketing ระดับโลก จึงเปิดตัวแคมเปญใหญ่ เครื่องดื่มคาราบาวพาทุกคนไป “สัมผัสประสบการณ์ระดับโลก เชียร์บอล เชียร์บาว” กับการชมฟุตบอลระดับโลกติดขอบสนาม ร่วมลุ้นเป็นผู้โชคดีบินลัดฟ้าสู่ประเทศอังกฤษ ชมศึก Carabao Cup ฤดูกาล 2023/24 รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งมั่นใจว่าจะเข้ามาสร้างกระแสและดึงให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับแบรนด์ พร้อมตอกย้ำความเป็นสินค้าระดับโลก แบรนด์ระดับโลก ให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น 

\"คาราบาว\" เปิดตำนานบทใหม่ตลาดเบียร์ ส่ง 2 แบรนด์ ไล่บี้ \"ช้าง-สิงห์\"

อีกกลยุทธ์สำคัญคือ “ช่องทางการกระจายสินค้า” โดยเบียร์ทั้ง 5 รสชาติ จะปูพรมจำหน่ายในร้านค้าในเครือข่ายของกลุ่มคาราบาว ได้แก่ ซีเจ มอร์ ที่มีมากกว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ, ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่มีร้านค้าอยู่มากกว่า 5,000 ร้านทั่วประเทศ และหน่วยรถในศูนย์กระจายสินค้าทั้ง 31 แห่ง ที่สามารถเข้าถึงร้านค้าปลีกทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางของโมเดิร์นเทรด และเทรดดิชันนอลเทรด ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญ ทั้งนี้ ในโอกาสในการเปิดตัวเบียร์ทั้ง 2 แบรนด์ บริษัทได้จัดทัพปรับโครงสร้างการกระจายสินค้าในเครือใหม่ทั้งหมด ด้วยการกระจายสินค้าสู่ “ตัวแทนจำหน่ายระดับอำเภอทั่วประเทศ” โดยตรง เพื่อลดขั้นตอนการกระจายสินค้า ทำให้สินค้าสามารถเจาะเข้าถึงร้านค้าย่อยหรือโชห่วยทั่วประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 

นายเสถียร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตลาดเบียร์ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว การเข้ามาในตลาดของคาราบาวกรุ๊ปในครั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้เห็น Movement ของตลาดที่เปลี่ยนไป จากมาตรฐานใหม่ของเบียร์ที่บริษัทกำลังจะสร้างขึ้น และมาพร้อมตัวเลือกที่หลากหลาย และจากมูลค่ารวมของตลาดแอลกอฮอล์ รวมกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น บริษัทตั้งเป้าว่า “เบียร์” จะเป็นหัวรถจักรที่สำคัญ ที่จะพาสินค้ากลุ่มแอลกอฮอล์ให้เติบโตไปด้วย พร้อมเป็นแกนนำให้ธุรกิจอื่น ๆ ในเครือคาราบาวเติบโตมากขึ้นไปอีก

สำหรับตลาดเบียร์ในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 2.6 แสนล้านบาท  แบ่งออกเป็น ตลาดเบียร์อีโคโนมี 75% ตลาดเบียร์สแตนดาร์ด 20% และตลาดเบียร์พรีเมียม 5%