ส่งสัญญาณ “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” ไม่เท่ากัน ชั้นผู้น้อยเพิ่มมากสุด

09 พ.ย. 2566 | 11:47 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2566 | 11:54 น.
58.0 k

รัฐบาลส่งสัญญาณ “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” ไม่เท่ากัน ชั้นผู้น้อยมีลุ้นได้เงินมากกว่ากลุ่มอื่น หลังเช็คตัวเลขหากขึ้นทั้งระบบอาจใช้งบประมาณหลักแสนล้านบาท รอฟังข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงนโยบาย “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” ว่า ขณะนี้วงในรัฐบาลกำลังพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ โดยมีการพูดคุยกันว่าจะปรับเพิ่มขึ้นทุกคนไม่เท่ากัน โดยจะเน้นกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย อาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่ากลุ่มอื่น แต่ทั้งหมดนั้นคงต้องมีการหารือกันอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุป

ทั้งนี้เหตุผลของการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ โดยเน้นข้าราชการชั้นผู้น้อย เป็นผลมาจากข้อจำกัดของงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการปรับขึ้นเงินเดือน เพราะถ้าขึ้นทั้งระบบจะต้องใช้งบประมาณสูงไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท หากจะพิจารณาปรับเพิ่มเงินเดือนในสัดส่วนที่เท่า ๆ กันทั้งระบบตั้งแต่ข้าราชการชั้นผู้น้อย ไปจนถึงข้าราชการระดับสูง

“สัดส่วนการปรับขึ้นถ้าจะคิดเป็นฐานเดียวกัน เช่นถ้าปรับขึ้น 5% หรือ 10% ถ้าขึ้นเหมือน ๆ กันจะส่งผลกระทบกับงบประมาณจำนวนมาก เพราะนอกจากเงินเดือนแล้ว ยังส่งผลไปถึงรายจ่ายเรื่องของเงินบำเหน็จบำนาญของข้าราชการอีกด้วย ดังนั้นจึงมีแนวคิดว่าจะปรับขึ้นให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยมากหน่อย และระดับสูงอาจได้แค่เล็กน้อยถือเป็นการเสียสละเพื่อข้าราชการชั้นผู้น้อยได้มีรายได้ไปเลี่ยงครอบครัวมากขึ้น” แหล่งข่าวระบุ

 

ส่งสัญญาณ “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” ไม่เท่ากัน ชั้นผู้น้อยเพิ่มมากสุด

 

อย่างไรก็ตามในการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ครั้งนี้ จะสามารถปรับขึ้นไปได้ตามเป้าหมายของพรรคเพื่อไทย ที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ คือ เงินเดือนปริญญาตรีเดือนละ 25,000 บาท หรือไม่ ตอนนี้รัฐบาลก็ต้องกลับมาดูถึงภาระต่าง ๆ ให้ดี ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดน่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูล จำนวนข้าราชการไทย ล่าสุด หลังจากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ ได้เสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณา เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ ปี 2566 – 2570 พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการจ้างงานในส่วนของกำลังคนภาครัฐ รวมกว่า 3 ล้านคน แบ่งเป็น

  1. ข้าราชการ จำนวน 1.75 ล้านคน 
  2. ประเภทอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ (พนักงานจ้าง พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานองค์การมหาชน) จำนวน 1.24 ล้านคน 

 

ส่งสัญญาณ “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” ไม่เท่ากัน ชั้นผู้น้อยเพิ่มมากสุด

 

สำหรับโครงสร้างวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 กำหนดกรอบวงเงินเอาไว้รวม 3.48 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายจ่ายประจำ ซึ่งรวมถึงเงินเดือนข้าราชการ และเงินเดือนลูกจ้าง เอาไว้ ภายใต้กรอบวงเงินรวม 2.61 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 75.28% ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน  2.17 แสนล้านบาท