ความคืบหน้านโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ล่าสุด 10 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แถลงผลการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ว่า ที่ประชุมได้กำหนดเงื่อนไขสำคัญของโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท คือให้คนไทย 50 ล้านคน ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่เกิน 7 หมื่นบาท หรือมีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาทสามารถเข้าร่วมโครงการได้
สรุปรายละเอียดเงินดิจิทัล 10,000 บาท
เงินดิจิทัล 10,000 บาท ครอบคลุม 50 ล้านคน และอีก 1 แสนล้านบาทในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ โดยรัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท กล่าวคือ ถ้ารายได้เกิน 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ หรือ ถ้ารายได้น้อยกว่า 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน
เงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้สิทธิใช้ครั้งแรกในเวลา 6 เดือนหลังจากโครงการเริ่ม และขยายพื้นที่การใช้จ่ายให้ครอบคลุมระดับอำเภอ
ขอบเขตการใช้งานเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะใช้ได้กับร้านค้าที่อยู่ในอำเภอเดียวกับบัตรประชาชน
ระยะเวลา 6 เดือนสำหรับการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท“ครั้งแรก” ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้เงินมีการหมุนเวียน และหากไม่ได้ใช้ สิทธิที่เหลืออยู่ก็จะถูกยกเลิกไปโดยอัตโนมัติ และเงินที่ถูกใช้และเข้าไปอยู่ในระบบแล้ว จะสามารถใช้จับจ่ายต่อได้จนถึงเดือนเมษาปี 2570
คุณสมบัติของผู้รับสิทธิรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป
- มีเงินเดือนไม่ถึง 70,000 บาท และ มีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท (ถ้าเงินเดือน 70,000 บาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ แม้ว่าเงินฝากมีไม่ถึง 500,000 บาท และถ้ามีเงินฝากเกิน 500,000 บาท แต่เงินเดือนไม่ถึง 70,000 บาทก็จะไม่ได้รับสิทธินี้เช่นกัน)
- ในส่วนของเงินฝากที่กำหนดให้ทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาทจะนับเฉพาะเงินฝากในระบบธนาคารทุกบัญชีเท่านั้น ไม่รวมสลากออมทรัพย์ การลงทุนในหุ้น การลงทุนในกองทุนในตลาดหลักทรัพย์ บัญชีเงินฝากในสหกรณ์
เงินดิจิทัล 10,000 บาทลงทะเบียนวันไหน ใช้จ่ายเมื่อไหร่?
- มีนาคม 2567 ลงทะเบียน/ยืนยันสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยยึดอำเภอตามทะเบียนบ้าน
- พฤษภาคม-มิถุนายน 2567 เริ่มใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาทครั้งแรก ผ่านแอปเป๋าตัง โดยประชาชนต้องใช้จ่ายภายในอำเภอตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
- ตุลาคม 2567 สิ้นสุดระยะเวลาการใช้เงินของประชาชน
- เมษายน 2570 สิ้นสุดระยะเวลาการใช้เงินของร้านค้า
เงินดิจิทัล 10,000 บาท ซื้ออะไรได้ ไม่ได้
- ประชาชนจะสามารถใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น
- ไม่สามารถใช้กับบริการได้
- ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้
- ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม
- ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณีได้
- ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้
- ไม่สามารถจ่ายค่าเรียน ค่าเทอม ได้
- ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้
- แลกเป็นเงินสดไม่ได้ แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆ ไม่ได้
- คุณสมบัติร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- ใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี
- ไม่จำเป็นต้องจด VAT
- ร้านค้ารถเข็น ร้านโชห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอปเป๋าตัง ใช้ได้หมด แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ
- ร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น
แหล่งเงินที่นำมาใช้แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- ออกพระราชบัญญัติ เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ตามมาตรา 53 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
ไทม์ไลน์เงินดิจิทัล 10,000 บาท
- Digital Wallet จะใช้ระยะเวลาในการตีความโดยกฤษฏีกา และกระบวนการกฎหมายช่วงปลายปีนี้ นำเข้าสู่สภา ช่วงต้นปี 2567 จัดเตรียมงบประมาณ
- เปิดให้ประชาชนได้ใช้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 แต่ก่อนหน้านั้น จะมีโครงการ e-Refund ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถจะสามารถดำเนินการได้เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป