“เศรษฐา” บี้เร่งเปิด “เหมืองแร่โปแตช” สั่งด่วนถ้าทำไม่ได้เปิดประมูลใหม่

07 พ.ย. 2566 | 15:55 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2566 | 18:02 น.
825

นายกฯ “เศรษฐา” บี้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเปิด “เหมืองแร่โปแตช” ส่งออกแม่ปุ๋ยขายต่างประเทศ รับที่ผ่านมามีบริษัทได้สัมปทานไปแล้ว สั่งด่วนถ้าทำไม่ได้อาจต้องเปิดประมูลใหม่

วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการเปิดเหมืองแร่โปแตช เพราะปัจจุบันมีผู้รับสัมปทานแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินงาน จึงเร่งรัดให้รีบดำเนินงาน และถ้าทำไม่สามารถทำงานได้ก็ให้หาผู้รับประมูลมาทำใหม่อีกที

“แร่โปแตช ถือเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญของการทำปุ๋ยเคมี ซึ่งประเทศไทยมีแร่โปแตช สูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากแคนาดา สารนี้เมื่อขุดเจาะมาแล้วสามารถนำไปขายได้ราคาดีในต่างประเทศ และมีความต้องการสูงในประเทศจีน ปัจจุบันมีผู้ได้รับสัมปทานแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินงานเลย” นายกฯ ระบุ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมครม.ว่าเรื่องของเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทย มีแร่โปแตชอยู่จำนวนมากในพื้นที่ภาคอีสาน ตั้งแต่พื้นที่ของจังหวัดอุดรธานี ชัยภูมิ ไปจนถึงนครราชสีมาตอนบน 

ปัจจุบันมีผู้ได้ประธานบัตรในการทำเหมืองไปแล้ว 3 ราย แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะเปิดพื้นที่ทำเหมืองได้ โดยหนึ่งในเจ้าที่ได้สัมปทานไปนั้นได้ไปกว่า 8 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะขุดแร่ขึ้นมาได้ในการที่จะมาทำเป็นแม่ปุ๋ย ส่วนอีก 2 บริษัทที่ได้สัมปทานนั้นมีการรายงานว่าบริษัทหนึ่งติดปัญหาเรื่องเงินทุนในการดำเนินกิจการ ส่วนอีกรายนั้นติดปัญหาเรื่องของเงินทุน

ด้วยเหตุนี้นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งศึกษาว่าหากรายเดิมที่ได้รับสัมปทานไปแล้วไม่สามารถนำเอาโปแตช ที่เป็นสินแร่ที่มีประโยชน์และเป็นที่ต้องการของประเทศและโลกนั้นขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้นั้น ก็ให้ไปดูว่าจะมีวิธีการที่จะมีผู้เล่นใหม่ที่มีความพร้อมเข้ามาเป็นผู้พัฒนาแหล่งแร่โปแตชในภาคอีสานแทนได้หรือไม่  

ทั้งนี้ที่ผ่านมาในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลก่อนหน้า ได้มีมติอนุญาตให้มีการผลิตและตั้งโรงงานเพื่อผลิตปุ๋ย (แม่ปุ๋ย) โพแทสเซียมคลอไรด์ในประเทศไทยจาก 3 แหล่ง ประกอบด้วย

แหล่งที่ 1 ที่จ.นครราชสีมา (ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด) ซึ่งได้รับอนุญาตจาก ครม.ไปแล้ว แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของพื้นที่ 

แหล่งที่ 2 ที่จ.ชัยภูมิ (ของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)) กำลังผลิต 1.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งได้รับสัมปทานไปแล้วเช่นกัน อยู่ระหว่างดำเนินการและระดมทุน คาดจะสามารถดำเนินการผลิตได้ในอีกประมาณ 3 ปี

แหล่งที่ 3 ที่ จ.อุดรธานี (ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ซึ่ง ครม.ให้ความเห็นชอบได้รับสัมปทานไปเมื่อปี 2565 คาดจะใช้เวลาอีกประมาณ 3 ปีจึงจะผลิตได้ (รวมกำลังผลิต 3 รายประมาณ 2.4 ล้านตันต่อปี)