ระนอง เปิดแผน 3 ชั้น สกัดต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

06 พ.ย. 2566 | 14:55 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2566 | 15:34 น.

ระนอง เปิดแผน 3 ชั้น “บก เรือ อากาศ” กุญแจสำคัญสกัดต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สกัดโรคระบาดสาระพัด ไม่ให้เข้าสู่ประเทศไทย

นายราชัน มีน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ปฏิบัติรายงานแทนผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า  จากการที่จังหวัดระนองยังสามารถสกัดกั้นผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองผิดกฏหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา   รวมทั้งผู้อพยพหลบหนีทางทะเลชาวโรฮิงญา ไม่ให้เข้ามาถึงพื้นที่ชายแดนระนองและลักลอบขึ้นมาบนฝั่ง สกัดกั้นการเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามาในพื้นที่ประเทศไทย ถือเป็นกุญแจสำคัญในการสกัดกั้นการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากประเทศเพื่อนบ้านได้  รวมทั้งโรคระบาดอื่นๆ ที่อาจจะเข้ามาระบาดในไทยได้
            
สำหรับมาตรการการเฝ้าระวังเพื่อสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของจังหวัดได้วางไว้เป็น 3 ชั้น 3 ระดับ ในการสกัดกั้น  โดยดำเนินการทั้ง 3 มิติคือทางบก ทางเรือ และทางอากาศ เป็นพื้นที่แรกของประเทศที่ใช้มาตรการคบทั้ง 3 มิติเป็นครั้งแรก เพราะจุดยุทธศาสตร์ชายแดนระนองสำคัญทั้งในพื้นที่จังหวัดระนอง และป้องกันผลกระทบต่อทั้งประเทศที่สามารถปกป้องคนไทย 69 ล้านคนไม่ให้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ 

สำหรับแผน 3 ชั้นในการสกัดกั้นป้องกันการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ประกอบด้วยทางทางเรือ มีการบูรณาการร่วมระหว่างทัพเรือภาคที่ 3 ที่นำเรือรบเข้ามาประจำการในการช่วยลดตระเวนตลอดแนวน่านน้ำทะเลอันดามันชายฝั่งด้าน จ.ระนอง-เกาะสอง ร่วมกับเรือตรวจการณ์ตำรวจน้ำระนองในการร่วมลาดตระเวน

โดยในช่วงกลางวันจะใช้การลดตระเวนโดยการใช้วิธีการตรวจการณ์ด้วยสายตาที่สังเกตความเคลื่อนไหวผิดปกติของเรือที่จะข้ามฟากมายังฝั่ง จ.ระนอง ส่วนกลางคืนจะใช้เรดาห์ในการตรวจการณ์ ส่วนในแนวร่องน้ำ ปากแม่น้ำกระบุรี และแนวลำน้ำกระบุรีที่เป็นแนวพรมแดนติดกับเพื่อนบ้านในเขต อ.กระบุรี จะใช้เรือตรวจการขนาดเล็กวิ่งตรวจสอบตลอด 24 ชม.  

นายราชัน  มีน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง

ทางกองทัพเรือภาค 3 จึงได้แบ่งการลาดตระเวนเฝ้าระวัง สกัดกั้นออกเป็น 3 ชั้น คือชั้นที่ 1 ใช้เรือเร็ว เรือยางตรวจการตลอดลำน้ำกระบุรี  พร้อมจัดกำลังพลชุดออกลาดตระเวนตลอดแนวชายแดน ในส่วนชั้นที่ 2 ใช้เรือตรวจการณ์ขนาดกลาง จอดลอยลำอยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างปากแม่น้ำกระบุรีกับทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นจุดที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำพาชาวเมียนมาเข้าพื้นที่

โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่จะตรวจสอบยากกว่าในช่วงเวลากลางวัน แต่บนเรือตรวจการณ์มีเครื่องตรวจจับค้นหาวัตถุจากเรดาห์ ส่วนที่ 3 ใช้เรือรบขนาดใหญ่ออกลาดตระเวนกลางทะเลอันดามันที่ใกล้กับน่านน้ำประเทศเมียนมา 

 ส่วนการตรวจการณ์ทางอากาศ  ได้รับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์จากทัพเรือภาคที่ 3 เข้ามาบินสนับสนุนการตรวจการณ์ในแต่ละช่วง โดยจะเน้นการบินวนตรวจการณ์ในจุดเสี่ยงที่เป็นช่องทางธรรมชาติจำนวน 14 จุดตลอดแนวชายแดนด้านจ.ระนอง 168 กม.ที่พบว่ามี 14 ช่องทางที่เป็นจุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษ  

พร้อมกันนี้ทางจังหวัดได้รับการสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 ได้นำอากาศยานไร้คนขับ (UAV) แบบ Orbiter 3B มาใช้ในภารกิจสนับสนุนการแก้ไขปัญหาป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของชาวเมียนมา ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  พื้นที่อาณาเขตทางทะเลของไทยฝั่งทะเลอันดามัน และทำการบินลาดตระเวนตรวจการณ์ทางทะเลตามแผนตลอดแนวชายแดน เพื่อตรวจสอบช่องทางธรรมชาติตามจุดพื้นที่เสี่ยงต่างๆหรือเรือประมงที่ต้องสงสัย 

ระนอง เปิดแผน 3 ชั้น  สกัดต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

ทั้งนี้ การปฏิบัติการบินดังกล่าวพร้อมปฏิบัติทั้งเวลากลางวันและกลางคืน สามารถส่งข้อมูลกลางทะเลได้ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว วันเวลาพิกัด ให้ศูนย์ FMC เพื่อตรวจสอบความผิดปกติในพื้นที่รวมถึงการรวบรวมข้อมูลพิกัดที่เป็นเป้าหมายสงสัย  

พร้อมส่งข้อมูลกลับไปให้ศูนย์ FMC ซึ่งขีดความสามารถของ UAV แบบ Orbiter 3B มีระยะปฏิบัติการประมาณ 50 ไมล์ทะเล ปฏิบัติการได้คราวละ 4 ชั่วโมง มีความแม่นยำในการระบุตำบลที่ของเป้าหมายผิวน้ำด้วยระบบการค้นหาเป้าตำบลที่กำหนด  สามารถพิสูจน์ทราบเรือประมงด้วยการมองเห็น visual ( identification) เครื่องหมายประจำเรือ ชื่อเรือ หรือลักษณะเรือเช่นสีเก๋งเรือ อุปกรณ์บนเรือได้อย่างชัดเจน

ส่วนการตรวจการณ์ในช่องทางบก มีทหารจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรี ตำรวจภูธรจังหวัดระนอง ตชด.ที่ 415  ร่วมจัดกำลังพลลาดตระเวนทางอากาศตรวจเข้มตลอดแนวชายแดน (ระนอง-เกาะสอง) พื้นที่ อ.กระบุรี อ.เมืองระนอง เพื่อป้องกันแรงงานชาวเมียนมา หรือขบวนการขนแรงงานชาวเมียนมาหลบหนีเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติโดยผิดกฎหมาย 

ส่วนชั้นสุดท้ายในการเฝ้าระวัง และสำคัญที่สุดคือชุมชน ตำบลหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านคือกำลังสำคัญที่คอยสอดส่องดูแลความเคลื่อนไหวของบุคคลแปลกหน้าที่เข้ามาหรือผ่านเข้ามาในพื้นที่ พร้อมขอความร่วมมือในแต่ละหมู่บ้านตลอดแนวชายแดน ช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังให้กับทางเจ้าหน้าที่ หากพบคนแปลกหน้าเข้ามาในชุมชน มีการวางมาตรการร่วมกัน พร้อมเพิ่มกำลังในการออกลาดตระเวน การกำหนดพื้นที่อ่อนไหวที่อาจจะมีการเด็ดลอดเข้ามาของแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน 

การป้องกันการแพร่ระบาดตามแนวชายแดนนั้นสำคัญมาก เพราะหากมีผู้ติดเชื้อหลุดลอดเข้ามาได้เพียง 1 คน อาจส่งผลกระทบและแพร่เชื้อเป็นวงกว้างได้ จึงต้องขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชน และทางฝ่ายปกครองในพื้นที่ช่วยกันสอดส่อง   ส่วนการเดินเรือ การขนส่งสินค้า ยังทำได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งความมั่นคง และเศรษฐกิจ เป็นคู่ขนานที่เดินไปด้วยกันได้ เพียงแต่อาจจะจำกัดไม่มีการอนุญาตให้ลูกเรือขึ้นมายังท่าเรือ หรือบนฝั่งโดยเด็ดขาด พร้อมจำกัดเวลาในการเข้า-ออกที่ชัดเจน  

โดยเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายมั่นคง ฝ่ายปกครอง ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ต้องช่วยกันสอดส่อง ทั้งนี้การเฝ้าระวังไม่เฝ้าระวังแค่ชาวเมียนมาที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเท่านั้น แต่ต้องเฝ้าระวังกลุ่มคนไทยที่เดินทางไป – กลับ ไทย เมียนมาด้วย

ไม่ว่าจะเข้าไปที่ฝั่งเมียนมานานแค่ไหนก็ตาม ลักษณะอย่างนี้สาธารณสุขจะต้องเข้าไปจัดการ ต้องระบุให้ได้ว่าเป็นใคร ต้องเฝ้าระวังเพื่อค้นหาผู้ป่วยอย่างเข้มข้น เพื่อนำสู่การตรวจจับ ตรวจวินิจฉัยโรคให้ได้โดยเร็ว