รัฐบาล สกัด "บริษัททัวร์" แอบขนคนไทยลักลอบทำงาน "เกาหลีใต้"

04 พ.ย. 2566 | 12:31 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2566 | 12:37 น.

กระทรวงแรงงาน-ท่องเที่ยว ร่วมหาทางสกัด บริษัททัวร์นำเที่ยวแอบพาคนไทยหนีเป็นผีน้อย ลักลอบทำงานเกาหลีใต้ พร้อมตั้งทีมเฉพาะกิจเฝ้าระวังที่สนามบิน ทั้งสุวรรณภูมิ และดอนเมือง

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีการการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงแรงงาน ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการท่องเที่ยว และสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว เพื่อขอความร่วมมือควบคุม กำกับ ดูแล และป้องกันไม่ให้บริษัทนำเที่ยวต่างประเทศบางแห่งที่อาจช่วยพาคนไทยลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ในรูปแบบนักท่องเที่ยว และตักเตือนบริษัททัวร์ที่ให้บริการคนไทยที่มีพฤติกรรมจะลักลอบเดินทางไปทำงานเกาหลีใต้ด้วย

สำหรับมาตรการป้องกันและปราบปรามสาย/นายหน้าจัดหางาน และการลักลอบไปทำงานเกาหลีใต้นั้น ปัจจุบันกระทรวงแรงงานมีมาตรการหลายด้าน โดยในด้านการป้องกันนั้น ล่าสุดได้ตั้งชุดเฝ้าระวัง ชี้แจง และตอบโต้เฟซบุ๊ก และ แอปพลิเคชันไลน์ ที่โฆษณาชักชวนคนหางานไปทำงานเกาหลี 

พร้อมกับตั้งชุดเฉพาะกิจสกัดกั้นการลักลอบไปทำงานเกาหลี ณ ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ และด่านตรวจคนหางานดอนเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยจะระงับการเดินทางคนหางานที่มีพฤติกรรมจะลักลอบไปทำงานที่เกาหลี ณ ด่านตรวจคนหางานทันที

 

รัฐบาล สกัด \"บริษัททัวร์\" แอบขนคนไทยลักลอบทำงาน \"เกาหลีใต้\"

ขณะเดียกันยังมีการส่งข้อมูลผู้ถูกระงับการเดินทางให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดตามที่ผู้ถูกระงับมีภูมิลำเนาอยู่เพื่อประชาสัมพันธ์การเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 5 วิธี คือ 

  1. บริษัทจัดหางานจัดส่ง 
  2. กรมการจัดหางานจัดส่ง 
  3. เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง
  4. นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน 
  5. นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน

พร้อมกันนี้ยังประสานกับเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ MOU เรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างศูนย์บริการตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรมสาธารณรัฐเกาหลี (Korea immigration Senvice) กับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ในการส่งต่อข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังและข้อมูลที่เป็นประโยชน์

ส่วนด้านการปราบปรามและดำเนินคดี ที่ผ่านมาได้ดำเนินคดีกับสาย/นายหน้าจัดหางานที่กระทำการหลอกลวง พร้อมทั้งดำเนินคดีผู้มีพฤติกรรมโฆษณาชักชวนโดยไม่ได้รับอนุญาตทางสื่ออินเตอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ และแจ้งเบาะแสผู้ลักลอบไปทำงานและสาย/นายหน้าจัดหางานให้ผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในเกาหลีประจำประเทศไทยพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามจับกุมสาย/นายหน้าจัดหางานที่มีพฤติการณ์ในการจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในเกาหลี โดยร่วมมือกับกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) และสถานีตำรวจท้องที่

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันเชื่อว่ามีแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ (ผีน้อย) จำนวนมากกว่า 1 แสนคน และแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่กระทรวงแรงงานร่วมทำเอ็มโอยูกับภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างด้าว (EPS) ที่ทำกันมายาวนานตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน จำนวน 93,118 คน 

“การที่จะทำงานอย่างถูกต้องภายใต้ MOU หรือในหลาย ๆ ประเทศที่รัฐบาลไทยมีสัญญาร่วมกันนั้น สิ่งที่แรงงานต้องปฏิบัติตามเรื่องแรก คือ ต้องเรียนภาษาของประเทศปลายทางที่จะเข้าไปทำงาน แต่คนไทยที่ลักลอบไปทำงานในเกาหลีใต้ จะใช้ทางลัดคือเข้าไปในฐานะนักท่องเที่ยว และหนีทัวร์ โดยไม่จำเป็นต้องมาทำสัญญาหรือเรียนภาษาอย่างที่กำหนดเอาไว้ใน MOU ที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลเกาหลีใต้” นายพิพัฒน์ ระบุ