อพท.ปั้น“เชียงราย-สุพรรณบุรี”ขึ้นชั้นสากลเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกปี 66

02 พ.ย. 2566 | 07:29 น.

อพท.ปั้น“เชียงราย-สุพรรณบุรี”ขึ้นชั้นสากลเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกปี 66 เร่งขับเคลื่อนแผน 2 จังหวัด รุกยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง 5 ปี ร่วมภาคีเครือข่ายพร้อมเตรียมพัฒนาเครือข่ายพื้นที่พิเศษ

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี  ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงรายและสุพรรณบุรี ได้รับเลือกให้เข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในระดับโลก (UNESCO Creative Cities Network - UCCN ) ประจำปี 2566 จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก 

โดยเชียงรายเป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านการออกแบบ (City of Design) และสุพรรณบุรี ด้านดนตรี (City of Music) ซึ่งในปีนี้มีเมืองที่ได้รับการประกาศเพิ่มขึ้นอีก 55 เมือง รวมเมืองต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลกได้รับการประกาศเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แล้ว 350 เมืองทั่วโลก 

ทั้งนี้ อพท.ได้ร่วมกับจังหวัดดำเนินการตามโรดแมป 5 ปี โดยในส่วน จ.สุพรรณบุรี ได้วางแผนขับเคลื่อนตามเป้าหมาย สุพรรณบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี ได้วางแผนการดำเนินงานด้านผ่านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่และต่อยอดให้เป็นเมืองแห่งดนตรี เนื่องจาก จ.สุพรรณบุรี มีรากฐานวัฒนธรรมทางด้านดนตรีที่เข้มแข็ง 

ผสมกลืมกลืนกับวิถีชีวิตของของในท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน ทั้งดนตรีพื้นบ้าน ภาษาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ รวมทั้งยังเป็นจังหวัดที่ผลิตบุคลากรทางด้านดนตรีที่มีความสำคัญกับประเทศมายาวนาน ทั้งปูชนียบุคคลทางด้านดนตรีและศิลปินแห่งชาติ

อพท.ปั้น“เชียงราย-สุพรรณบุรี”ขึ้นชั้นสากลเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกปี 66

ส่วน จ.เชียงราย ดำเนินการต่อยอดจากแผนที่นำทางที่ได้ร่วมจัดทำไว้เดิมในปี 2564 โดย อพท. ร่วมจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและนานาชาติตามแผนขับเคลื่อนเชียงรายเป็นเมืองแห่งการออกแบบ 

ซึ่งเชียงรายมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น มีศิลปินล้านนาจำนวนมาก มีการสร้างสรรค์ทางศิลปะที่สืบทอดกันมาทั้งจิตรกรรม ประติมากรรมและสถาปัตยกรรม ที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมทางท้องถิ่น และยังมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม
 

อย่างไรก็ตาม อพท. ได้เตรียมเครือข่ายการพัฒนาเมืองเพื่อเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในพื้นที่พิเศษของ อพท. ได้แก่ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เมืองในพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (สงขลา พัทลุงและนครศรีธรรมราช) 

และอีกหลายเมืองที่ได้มีการศึกษาศักยภาพไว้เบื้องต้นเพื่อผลักดันให้เกิดการรับรู้ศักยภาพของประเทศไทยในระดับโลก เพื่อปักหมุดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทยให้มีเติบโตยิ่งขึ้นต่อไป และสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการผลักดันและขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ในด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม