เงื่อนไข "จ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ" หน่วยงานไหนบ้างที่ไม่เข้าเกณฑ์

01 พ.ย. 2566 | 09:34 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2566 | 09:49 น.

รองโฆษกรัฐบาล "คารม พลพรกลาง” สรุปเงื่อนไข "จ่ายเงินเดือนข้าราชการ ลูกจ้างประจำ 2 รอบ แบบสมัครใจ" หน่วยงานไหนบ้างที่เข้า-ไม่เข้าเกณฑ์

วันนี้ (1 พ.ย. 66) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีดำริปรับแผนจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็นเดือนละ 2 รอบ เพื่อหวังบรรเทาทุกข์ข้าราชการชั้นผู้น้อย และเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ข้าราชการ 

ความคืบหน้าการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบว่า กรมบัญชีกลางจะมีการปรับแก้กฎหมาย และปรับระบบจ่ายเงินเดือนค่าจ้าง e-Payroll ให้สอดคล้องกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ธนาคาร สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สรุปเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนข้าราชการแบบใหม่

  • เป็นแบบสมัครใจสามารถเลือกได้ว่าจะรับ 1 รอบต่อเดือน หรือ 2 รอบต่อเดือน
  • ครอบคลุมส่วนราชการ 230 หน่วยงาน ที่อยู่ในระบบ e-Payroll ของกรมบัญชีกลาง
  • หน่วยงานอื่นที่ไม่อยู่ในระบบ e-Payroll ของ กรมบัญชีกลาง เช่น อปท. เทศบาล อบต. จะไม่เข้าเงื่อนไข


ทั้งนี้ ข้าราชการที่สนใจสามารถยื่นแบบเลือกรับเงินเดือน 2 รอบ ได้ตั้งแต่วันที่  1 - 15 ธันวาคม  2566 นี้ หากไม่ยื่นแบบก็จะรับเงินเดือน 1 รอบต่อเดือนเหมือนเดิม

 

หากประสงค์จะรับเงินเดือน 2 รอบต้องกรอกแบบฟอร์มยื่นแสดงความประสงค์ และสามารถเปลี่ยนใจได้ว่าจะรับรอบเดียวหรือ 2 รอบ ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ส่วนข้าราชการบรรจุใหม่สามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินเดือน 1 หรือ 2 รอบ

 

ระบบการจ่ายเงินเดือน 2 รอบ

  • รอบแรกจ่ายวันที่ 16 ของทุกเดือน
  • ถ้าวันที่ 16 ตรงกับวันหยุดก็จะเลื่อนมาเป็นวันทำการ รอบ 2 วันทำการก่อน 3 วันสุดท้ายของเดือน
  • กลุ่มข้าราชการที่ขอรับเงินเดือน 2 รอบ จะเริ่มตั้งแต่ มกราคม 2567
  • ส่วนกลุ่มลูกจ้างประจำรับเงินเดือน 2 รอบ ตั้งแต่มีนาคม 2567

 

ผู้รับบำนาญ-กบข.-กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

  • ยังไม่ร่วมในโครงการนี้ ยังจ่ายเงินเดือนรอบเดียวเหมือนเดิม
  • ในส่วนการหักเงินเดือนสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำ จะหักจ่าย 2 รอบ หรือครึ่งหนึ่งของเงินที่หักจากการจ่ายเงินเดือนรอบเดียว โดยกรมบัญชีกลางจะคำนวณให้หมด ส่วนหนี้ กยศ. หนี้ธนาคาร หนี้บุคคลที่ 3 หักจ่ายรอบเดียวเดือนละครั้ง

 “การจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็นเดือนละ 2 รอบ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับข้าราชการที่มีปัญหาภาระด้านการเงิน ให้มีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น ซึ่งเป็นแบบสมัครใจ ไม่ใช่ภาคบังคับ ข้าราชการสามารถเปลี่ยนความต้องการระบบการจ่ายเงินได้ปีละ 1 ครั้ง” นายคารม ย้ำ