วงเสวนา สว. ชำแหละ แจกเงินดิจิทัล รัฐเสี่ยงกระเป๋าฉีกล้านล้าน

30 ต.ค. 2566 | 14:30 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2566 | 16:15 น.

วงเสวนา วุฒิสภา ร่วมชำแหละนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต “พิสิฐ ลี้อาธรรม” ชี้รัฐบาลตั้งวงเงิน 5.6 แสนล้านบาท เสี่ยงรัฐขาดดุลเงินสดในปีงบประมาณ 2567 ทะลุ 1 ล้านล้านบาท

วันนี้ (30 ตุลาคม 2566) คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และ คณะกรรมการวิชาการของวุฒิสภา ได้จัดสัมมนา เรื่อง “นานาทัศนะกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ความท้าทายและพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศ”

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การตั้งวงเงินนโยบายแจกเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ณ ปัจจุบันก็ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะจัดหาแหล่งวงเงินใดมาใช้ในนโยบายครั้งนี้ และมีความเป็นไปได้ว่า ถ้ารวมวงเงินที่ใช้ดิจิทัลวอลเล็ต การขาดดุลเงินสดของรัฐในปีงบประมาณ 2567 จะเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านล้านบาทอีกครั้ง หลังจากเคยเกิดขึ้นมาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้น

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องนั่นคือ อัตราดอกเบี้ยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลังเกิดปัญหาเงินเฟ้อเกิดขึ้น ล่าสุด อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 5% ผลที่ตามมาคืออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของรัฐบาลไทยก็ต้องปรับสูงขึ้นไปด้วย ดังนั้นงบประมาณที่รัฐบาลตั้งไว้ว่าจะต้องชำระดอกเบี้ยไว้ 2 แสนล้านบาทในปี 2567 จะไม่เพียงพอสำหรับการชำระคืนแน่นอน

 

วงเสวนา สว. ชำแหละ แจกเงินดิจิทัล รัฐเสี่ยงกระเป๋าฉีกล้านล้าน

ขณะเดียวกันการจัดหาเงินมาใช้ในการแจกเงินดิจิทัลนั้น ยังต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องรองรับด้วย เช่น ถ้าเป็นรายจ่าย ก็ต้องมี พรบ.งบประมาณรองรับ ถ้าเป็นรายได้ก็ต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับประมวลรัษฎากรรองรับ และถ้าจะกู้เงินก็มี พรบ.หนี้สาธารณะรองรับ ไม่ใช่ว่านึกจะทำอะไรก็ทำได้ ซึ่งส่วนตัวเองมองว่า ณ ตอนนี้ยังมองไม่ออกว่าจะใช้กฎหมายอะไรมารองรับการใช้แจกเงินดิจิทัล

ดร.พิสิฐ กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการขยายตัวของจีดีพีไทยโตช้ามาก และส่วนเห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่เห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการทำนโยบายแจกเงินดิจิทัล เพราะการกระตุ้นโดยการบริโภคไม่มีประเทศไหนทำได้สำเร็จ ทั้ง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขณะที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็พยายามทำหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีครั้งไหนที่ทำเศรษฐกิจไทยโตได้อย่างที่อ้างไว้

เช่นเดียวกับกรณีนักวิชาการ 99 คน ซึ่งออกมาแสดงความเห็นในทางเศรษฐศาสตร์ว่า การกระตุ้นด้านบริโภคไม่ถูกหลัก แต่ต้องกระต้นด้วยการลงทุน และการใช้จ่ายของรัฐเป็นหลัก

ดร.พิสิฐ กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้อ้างความคิดว่าแจกเงินให้ประชาชนบริโภคจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เกือบทุกปีรัฐบาลได้ทำตามแนวคิดนี้ แต่จีดีพีไทยก็ยังขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน ผลจากมาตรการนี้คือ หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงเมื่อประชาชนเสพติดการบริโภค แต่ไม่ได้เพิ่มความสามารถในการผลิต และทำให้หนี้ครัวเรือนไทยจัดว่าสูงเกือบเท่ารายได้

 

วงเสวนา สว. ชำแหละ แจกเงินดิจิทัล รัฐเสี่ยงกระเป๋าฉีกล้านล้าน

“ผลต่อการกระจายรายได้ โดยแจกเงินดิจิทัลทั้งคนรวยและคนจนเท่า ๆ กัน นั้น ใช่การแก้ปัญหาความยากจนหรือไม่ และที่ไม่ได้แจกคนที่อายุต่ำกว่า 16 ปี แต่เอาเงินในอนาคตของคนกลุ่มนี้ที่ต้องเสียภาษีมาแจกคนอื่น ดังนั้นเด็กที่ต่ำกว่า 16 ปีทุกคนในอนาคตต้องแบกรับภาระภาษีมาจ่ายให้กับคนปัจจุบัน อย่างนี้เรียกว่า ความเป็นธรรมหรือไม่” ดร.พิสิฐ ระบุ

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขการดำเนินมาตรการ โดยใช้มาตรา 28 ตามพรบ.วินัยการเงินการคลัง หรือการยืมเงินจากหน่วยงานอื่นมาใช้นั้น เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระ จะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการนั้น ให้กระทำได้เฉพาะกรณี ที่อยู่ในหน้าที่และ อำนาจตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น 

ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลก่อนหน้าก็ใช้กลไกดังกล่าว โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยชาวนา และให้ธนาคารออมสิน เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่การจะใช้เงินถึง 5.6 แสนล้านบาทของสถาบันการเงินของรัฐมาใช้นั้น ขอตั้งคำถามว่า มีหน่วยงานรัฐใดบ้างที่มีอำนาจตามกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้ภายใต้ขอบข่ายของกฎหมายตามมาตรา 28 บ้าง