ดร.กิตติ แนะแจก "เงินดิจิทัล 10000 บาท" ให้แบ่งจ่าย ชี้ไร้หลักเกณฑ์ แบ่งรวยจน

29 ต.ค. 2566 | 06:45 น.

ศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล แนะทางออกโครงการแจก "เงินดิจิทัล 10000 บาท" ให้แบ่งจ่าย 2-3 งวด หมุนเงินจากรายรับภาษีอากร ชี้แบ่งกลุ่มคนจน คนรวย ไร้หลักเกณฑ์ ซ้ำยืดแลกคืน 4ปี เกิดตลาดมืดรับแลกเงิน

โครงการ "แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท" ที่คาดว่าจะมีการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินให้แก่ประชาชน โดยมีความเห็นการแบ่งเกณฑ์การรับเงินดิจิทัล 3 แนวทาง คือ

  1. จ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1.6 แสนล้านบาท
  2. พิจารณาให้ตัดกลุ่มคนที่มีความพร้อมทางสังคม มีรายได้เดือนละ 25,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 1 แสนบาท จะเหลือผู้ที่ได้รับสิทธิ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท
  3.  พิจารณาตัดผู้ที่มีรายได้เกินเดือนละ 50,000 บาท หรือมีเงินฝากในบัญชี 5 แสนบาท จะเหลือผู้ได้รับสิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.9 แสนล้านบาท

โดยตั้งระยะเวลาโครงการเงินดิจิทัลไว้ราว 4 ปี ใช้เงินงบประมาณปีละ 100,000 ล้านบาท

ฐานเศรษฐกิจสัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปฏิเสธไม่ได้เคยเป็นคณะทำงานหลักบ้านในการคิดนโยบายนี้กับพรรคเพื่อไทยมาก่อน

ศ.ดร.กิตติ ให้ความเห็นต่อเกณฑ์การแบ่งกลุ่มประชาชนผู้มีสิทธิรับเงินดิจิทัลทั้ง 3 แนวทางว่า  เป็นการแบ่งที่ไม่มีหลักเกณฑ์เท่าไหร่ เป็นการปรับเปลี่ยนโครงการจนเสียคอนเซปต์ 

เนื่องจากเราไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ที่มีรายได้มากหรือน้อยเหล่านั้นถือครองสินทรัพย์อยู่เท่าไหร่ ทุกคนต้องเปิดเผยรายได้ และทรัพย์สินหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เกิดความวุ่นวายและเป็นต้นทุนในการดำเนินโครงการเพิ่มขึ้น

เกณฑ์ที่ใช้นี้ยึดหลักของรายได้ โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยแต่ยังไม่เห็นในรายละเอียด นอกเหนือจากที่ปรากฏเป็นข่าว ส่วนตัวมีความเห็นว่าในทางปฏิบัติไม่ค่อยเหมาะสม ทำได้ยาก และไม่เห็นด้วย

ผลกระทบจากการแบ่งกลุ่มประชาชนจากรายได้นี้ อาจเกิดคำถามตามมาได้ว่า สำหรับประชาชนกลุ่มที่ไม่ได้รับเงินดิจิทัล แต่มีความมุ่งหวังที่จะได้รับเงินดิจิทัลด้วยนั้นจะดำเนินการกับคนกลุ่มนี้อย่างไร อีกทั้งการดำเนินนโยบายใดนั้นต้องคำนึงถึงต้นทุนในการบริหารจัดการด้วย 

ดังนั้นการที่พยายามแยกคนรวยออก ถือว่ามีต้นทุนในการดำเนินโครงการที่สูงมาก ทั้งทางด้านเวลาและรูรั่ว กลายเป็นความไม่คุ้มค่า ประชาชนตั้งคำถามถึงเกณฑ์การแบ่งผู้มีสิทธิ์ได้รับหรือไม่ได้รับแจกเงินดิจิทัล

แจกเงินดิจิทัล 10000 บาท

สำหรับแหล่งที่มาของเงินเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ ดร.กิตติยอมรับว่า เมื่อพิจารณาจากรายรับภาษีแล้ว มีเงินไม่พอที่จะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุ 16ปีขึ้นไป 

ซึ่งแม้จะมีข้อจำกัดเรื่อง งบประมาณที่ต้องนำมาใช้ในการดำเนินโครงการก็ตาม แต่ก็ควรใช้วิธีอื่น ที่ไม่ใช่ตัดสิทธิ์ประชาชนออกเช่นนี้ สิ่งที่ดร.กิตติเคยนำเสนอไปแล้ว นั่นคือ ควรจะมีการแบ่งชำระ แทนการลดจำนวนประชาชนที่จะได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

เนื่องจากในปัจจุบันมีเงินภาษีเข้ามาที่เงินคงคลังประมาณ 3 แสนล้านบาท สามารถแก้ไขกฎหมาย หรือกฎระเบียบบางประการเพื่อโอนเงินบางส่วนให้ประชาชนก่อน โดยทยอยโอนให้กับประชาชน 2-3 ครั้งภายในระยะเวลา 6เดือน

โดยก้อนแรกควรโอนให้กับประชาชนก่อนปีใหม่ ประมาณ 2,000-2,500 บาท/คน เพราะเป็นช่วงที่ประชาชน มีการจับจ่ายใช้สอย จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และเมื่อรัฐบาลจัดเก็บภาษีเข้ามาได้ ก็นำไปบริหารเงินหมุนเวียนของโครงการต่อไป เป็นการหมุนเงินจากรายรับภาษีอากร

และยืดระยะเวลาร้านค้าให้สามารถนำเงินดิจิทัลที่ได้รับ มาแลกเป็นเงินจริงได้ภายในระยะเวลา 1ปี ไม่จำเป็นต้องยืดให้นานถึง 4ปี จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดตลาดมืด คอยตั้งโต๊ะแลกเงิน

การที่รัฐบาลคือ The last resort หรือ ผู้รับประกันคนสุดท้าย นั่นคือ แจกไปจำนวนเท่าไหร่ต้องตั้งเงินไว้ให้พร้อมสำหรับการแลกคืนเป็นเงินจริงด้วย ซึ่งหากไม่มีเงินก็สามารถใช้มาตรา28 ของ พ.รบ. วินัยการเงินการคลัง

ดร.กิตติกล่าวทิ้งท้ายว่า แม้จะมีการปรับเกณฑ์การแจกเงินดิจิทัลให้แก่ประชาชนก็ตาม แต่ก็ยังต้องตั้งวงเงินไว้เพื่อรองรับการแลกกลับเป็นเงินจริงถึงกว่า 4 แสนล้านบาท และการปรับให้สามารถแลกเงินดิจิทัลเป็นเงินจริงได้ ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท ภายใน 4ปี ย่อมเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการตั้งโต๊ะ รับแลกเงินในตลาดมืด

อย่างไรก็ตาม ดร.กิตติ ได้แสดงความหวังให้โครงการนี้สามารถดำเนินการได้จริง และขอให้ผลประโยชน์เป็นของประชาชน