“นกแอร์”รุกธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูปี 2569

28 ต.ค. 2566 | 09:03 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2566 | 09:05 น.
3.1 k

“นกแอร์” ดำเนินธุรกิจภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ มาร่วม 2 ปีกว่าแล้ว ซึ่งจากธุรกิจการบินที่ฟื้นตัวขึ้น สายการบินจึงมองการหารายได้เพิ่ม เพิ่มฝูงบินใหม่ รวมถึงธุรกิจใหม่อย่างศูนย์ซ่อมอากาศยาน หรือ MRO ซีอีโอนกแอร์ มีคำตอบ

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK อัพเดทแผนฟื้นฟูกิจการ ว่า ที่ผ่านมานกแอร์ทยอยชำระหนี้ให้เจ้าหนี้มาโดยตลอด ตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟู แต่ยังเหลือการชำระหนี้ในส่วนของเงินกู้ของครอบครัว ที่ตามแผนจะชำระในอีก 2 ปีข้างหน้า

นกแอร์ขยายฝูงบินรวม 36 ลำ

อีกทั้งในช่วงปลายปีนี้และปีหน้า นกแอร์จะกู้เงินหรือเพิ่มทุนอีก 600 ล้านบาท และในอีก 2 ปีครึ่งจะเพิ่มทุน 4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่ใกล้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ

อัพเดทแผนฟื้นฟูกิจการสายการบินนกแอร์

ทั้งนี้นำเงินมาใช้ในการเพิ่มฝูงบินใหม่ สำหรับการขยายเส้นทางบินและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น โดยจะมีฝูงบินทั้งหมดรวม 36 ลำภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ

ปัจจุบันนกแอร์มีเครื่องบินอยู่ 14 ลำ เป็นโบอิ้ง 737-800 เรามีแผนจะนำเครื่องบินใหม่เข้ามาอีก 22 ลำ มีทั้งเช่าและซื้อภายใน 2 ปีนี้ ซึ่งจะเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ทยอยนำเข้ามาในช่วงปลายปีนี้ 1-2 ลำก่อน ต้นปีหน้าอีก 2 ลำ และปลายปีหน้า 8 ลำ

นอกจากนี้เรายังมีเครื่องบินโบอิ้ง737 MAX จำนวน 8 ลำ ที่ได้วางมัดจำไว้แล้ว ซึ่งจะต้องสั่งภายในปี 2568 เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกยึดเงินมัดจำไปหลายร้อยล้านบาท อันนี้ยังไม่รวมเครื่องบินขนาดเล็ก ที่เรากำลังศึกษาอยู่ อย่าง เอทีอาร์ 600 หรือ Q 400 เพื่อนำมาบินเมืองรอง

รวมถึงนกแอร์ ยังอยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครนักบินในเฟสแรกเพิ่มอีก 30 คน และอีก 2 เดือนก็จะรับเพิ่มขึ้นอีก หลังจากก่อนหน้านี้ที่รับลูกเรือไปแล้วกว่า 100 คน และเดือนหน้าจะเปิดรับอีก เพื่อรองรับเครื่องบินที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้น

ขยายเส้นทางบินจีน-อินเดีย

อย่างไรก็ตามด้วยความที่จีนเปิดประเทศช้ากว่าที่เราคาดไว้ว่าน่าจะเปิดตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ตัวเลขรายได้เลยไม่ตรงกับคาดการณ์ตามแผนฟื้นฟูที่วางไว้ แต่ก็มีแนวโน้มการฟื้นตัว ของตลาดที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ในปีหน้านกแอร์มีแผนจะเปิดเส้นทางบินใหม่และเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินเข้าจีนเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นตลาดใหญ่ของนกแอร์ ปัจจุบันเราบินอยู่แล้วในหลายเมืองอาทิ หนานหนิง เจิ้งโจว และภายในเดือนพ.ย.นี้จะมีทั้งหมดรวม 7 เมืองที่จะบินเข้าจีน

ทั้งยังมีแผนเปิดเส้นทางบินใหม่สู่อินเดีย จากปัจจุบันบินเมืองไฮเดอราบัดอยู่แล้ว ก็มองว่าจะเพิ่มเดลี แต่ต้องรอให้ไทยได้สิทธิการบินเสียก่อน รวมทั้งยังมีแผนเปิดบินสู่เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และฮ่องกง ส่วนเส้นทางบินในประเทศก็จะเน้นเพิ่มความถี่

รวมทั้งช่วงปีใหม่นี้นกแอร์ จะนำเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ไปลงลำปาง เนื่องจากสนามบินได้ขยายรันเวย์เรียบร้อยแล้ว ทำให้เรานำเครื่องบินใหญ่เข้าไปบินได้ ขณะที่หากเรามีเครื่องบินขนาดเล็กเข้ามา และถ้าภาครัฐซัพพอร์ตสนับสนุนให้เอกชนนำเครื่องบินขนาดเล็กมาบินเมืองรอง เราก็มองจุดบินไว้ที่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ด้วย

หาพันธมิตรรุกลงทุน MRO

นอกจากนี้นกแอร์ ยังมีแผนลงทุน MRO (ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน) โดยเราจะแยกออกมาเป็นบริษัทใหม่ในเครือของนกแอร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับพาร์ทเนอร์ทั้งไทยและต่างชาติในการร่วมลงทุน 2-3 ราย โดยเราให้ความสำคัญกับโนฮาวว่าจะเอาของประเทศไหน ไม่ว่าจะเป็น จีน อิสราเอล สิงคโปร์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องของการร่วมลงทุนได้ในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า

จากการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน MRO เราเห็นว่ามีดีมานต์และสนใจที่จะลงทุน โดยประเมินว่าจะใช้งบลงทุน 1,400 ล้านบาท ที่จะสร้างโรงซ่อมเครื่องบิน (แฮงก้า) 2 โรง เป็นโรงซ่อมใหญ่ 1 โรง สามารถซ่อมบำรุงเครื่องบินลำตัวแคบได้พร้อมกัน 2 ลำ และโรงเพ้นท์เครื่องบินอีก 1 โรง สำหรับพื้นที่ในการลงทุน MRO กำลังพิจารณาว่าจะลงทุนที่สนามบินใดจึงจะเหมาะสม

เพราะตอนแรกมองว่าจะเช่าพื้นที่สนามบินของทอท.แต่ติดที่ต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน 15% จึงมองว่าต้นทุนสูงเกินไป ก็มองการลงทุนที่สนามบินของกรมท่าอากาศยาน(ทย.)ด้วย มีเสนอสนามบินในภาคอีสานขึ้นมา ก็พิจารณาอยู่ แต่จะไม่ลงทุนที่สนามบินอู่ตะเภา เพราะกว่าการสร้างรันเวย์ใหม่ของสนามบินจะแล้วเสร็จต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปี แต่นกแอร์มองว่าถ้าไตรมาสแรกปีหน้าสรุปผู้ถือหุ้นเสร็จ ก็จะใช้เวลาสร้างอีก 2 ปี แล้วเสร็จปี 2569

การลงทุน MRO จะต้องยื่นเรื่องขอต่อศาลล้มละลายกลาง แต่ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเจ้าหนี้รายใหญ่ก็คือผู้ถือหุ้น ก็พร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว โดยจะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทำเรื่องของการซ่อมใหญ่ (Heavy Maintenance) แลนด์ดิ้ง เกียร์ องค์ประกอบต่างๆ ของตัวเครื่องบิน แต่ไม่มีการซ่อมเรื่องเครื่องยนต์

NOK มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูกิจปี 69

อย่างไรก็ตามเรายังมั่นใจว่านกแอร์จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ภายในปี 2569 เพราะแค่ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ก็หมดแล้ว ซึ่งผู้ถือหุ้นพร้อมซัพพอร์ตเต็มที่ โดยเฉพาะครอบครัวผมที่ถือหุ้นอยู่ 75% ซึ่งรวมจำนวนเงินกู้จากผู้ถือหุ้นที่เคยให้กู้มาก่อนหน้าเข้าแผนฟื้นฟูอยู่ที่ 3 พันล้านบาท และแผนโครงสร้างทางการเงินภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ที่จะเกิดขึ้นอีก 4.6 พันล้านบาท รวมแล้วเป็นจำนวนกว่า 7.6 ล้านบาท ก็ยังเป็นกลุ่มของครอบครัว

อีกทั้งขณะนี้ก็มีนักลงทุนต่างชาติสนใจอยากเข้ามาทุนกับนกแอร์ แต่เรามองผู้ถือหุ้นต้องมาเสริมความแข็งแกร่งให้นกแอร์ เช่นการเพิ่มฝูงบิน หรือต้องมีโนฮาว ไม่ใช่มีแต่เงินเข้ามา ซีอีโอ นกแอร์ กล่าวทิ้งท้าย