4 ทศวรรษ “ตลาดสี่มุมเมือง” เดินหน้าสู่ ตลาดค้าส่งเพื่อความยั่งยืน

23 ต.ค. 2566 | 09:55 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2566 | 10:00 น.

ตลาดสี่มุมเมือง ปรับวิชัน เดินหน้าลงทุนครั้งใหม่ฉลองครบ 40 ปี พลิกโฉม “ศูนย์กลางค้าส่งผักผลไม้เอเชีย” สู่ “ตลาดค้าส่งเพื่อความยั่งยืน” เผยทุ่มกว่า 5,000 ล้านขยายโซนสินค้า บริหารจัดการขยะ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ฯลฯ

ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา “ตลาดสี่มุมเมือง” ถือเป็นศูนย์กลางที่เกษตรกรนำสินค้ามาจำหน่ายบนพื้นที่กว่า 350 ไร่ เพื่อกระจายวัตถุดิบอาหารไปทั่วประเทศด้วยสินค้ากว่า 8,000 ตันต่อวัน ถือเป็นแหล่งค้าขายสำคัญของเกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า แรงงาน ชุมชน ตลาดสด ร้านอาหาร โรงแรม องค์กร และผู้บริโภค และเป็นต้นแบบตลาดกลางค้าส่งที่มีการบริหารจัดการที่ทันสมัยครบทุกมิติ และเมื่อความต้องการของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง การพัฒนา นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืน จึงเป็นพันธกิจใหม่ที่ “ตลาดสี่มุมเมือง” เดินหน้า

นางสาวปณาลี ภัทรประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดอนเมืองพัฒนา จำกัด ผู้บริหาร “ตลาดสี่มุมเมือง” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ตลาดสี่มุมเมืองเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นต้นแบบตลาดกลางค้าส่งผักผลไม้ของสดทั้งในและต่างประเทศ ที่บริหารจัดการครบวงจร การจัดประเภทสินค้า การให้บริการอย่างมีระบบโดยเทคโนโลยีที่ทันสมัย การจัดระบบแรงงาน และการเก็บข้อมูลราคาสินค้าที่องค์กรและเกษตรกรนำไปใช้อ้างอิงเป็นราคากลางของประเทศ

4 ทศวรรษ “ตลาดสี่มุมเมือง” เดินหน้าสู่ ตลาดค้าส่งเพื่อความยั่งยืน

รวมทั้งที่นี่ยังเป็นตลาดแรกที่มีการวางระบบแบบแยกประเภทสินค้าเป็นหมวดหมู่โซนตลาดอย่างชัดเจน ทั้งโซนผัก ของสด เครื่องปรุง 12 อาคารตลาด, โซนผลไม้ 7 อาคารตลาด, ตลาดดอกไม้และสังฆภัณฑ์, ลานคอนเทนเนอร์ และโซนอาคารห้องเย็น พร้อมทั้งยังกำหนดมาตรฐานสินค้าเป็นคำเรียกเฉพาะ อาทิ LA (ใหญ่ สวย) MA (กลาง สวย) SA (เล็ก สวย) เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

นอกจากนี้ที่นี่ยังมีฝ่ายตรวจสอบสารพิษภายใต้มาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจสินค้าที่จำหน่ายในตลาดทุกวัน และยังเปิดให้ผู้ที่สนใจที่ต้องการใบรับรองเพื่อส่งออกเข้ามาใช้บริการได้ และยังเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ซื้อมากขึ้นด้วย Simummuang Online มาร์เก็ตเพลสที่ผู้ซื้อสามารถสั่งสินค้าผ่านทางออนไลน์ ทำให้เข้าถึงสินค้าได้โดยตรงกับแผงค้าในตลาดฯ และได้ราคาส่งโดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาซื้อสินค้าด้วยตัวเอง รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรและผู้ค้าส่งในตลาด สามารถเข้าถึงผู้ซื้อได้ง่ายขึ้น

นางสาวปณาลี กล่าวอีกว่า การดำเนินงานด้าน Circular Economy ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านบริหารจัดการขยะ ซึ่งเป็นต้นแบบของตลาดที่มีระบบการจัดการขยะ เป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน สามารถ Recycle และ Upcycle 40% จากขยะทั้งหมด 230 ตัน ต่อ วัน ทำให้ลดการฝังกลบและสร้างรายได้เพิ่มทำให้ ตลาดสี่มุมเมืองได้รับรางวัลชนะเลิศ ผลงานประเภทการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource Efficiency) จาก TGDA 2021

4 ทศวรรษ “ตลาดสี่มุมเมือง” เดินหน้าสู่ ตลาดค้าส่งเพื่อความยั่งยืน

แบ่งเป็น การจัดการขยะอินทรีย์ นำเศษผักกว่า 190 ตันต่อวัน สามารถเปลี่ยนเป็นอาหารปลาได้ถึงวันละ 50 ตันต่อวัน และสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารโคได้ 20 ตันต่อวัน และการจัดการขยะอนินทรีย์ นำขวดแก้ว กล่องโฟม กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะจากทั้งในตลาดและหมู่บ้านไปจำหน่ายต่อให้กับโรงงานและบริษัทที่รับซื้อเพื่อไปรีไซเคิลต่อไป และมีรถบริการรับซื้อขยะถึงที่

นอกจากนี้ยีงมีแผนลดใช้ไฟฟ้าด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ บนหลังคาของโซนห้องเย็น และหลังคาอาคารตลาดต่าง ๆ กว่า 4,000 ตารางเมตร (1,271 แผ่น) สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้มากถึง 12% ต่อเดือน และการคืนน้ำดีให้กับชุมชน โดยใช้งบลงทุน 40 ล้านบาท นำเทคโนโลยี Activated Sludge มาใช้บำบัดน้ำเสียทั้งจากตลาดและหมู่บ้าน ได้มากถึง 6,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และผ่านการรับรองจากสำนักสิ่งแวดล้อม จังหวัดปทุมธานี น้ำที่ได้จากการบำบัดถูกนำไปใช้ประโยชน์รอบตลาด เช่น ล้างพื้นตลาด รดน้ำต้นไม้ รวมทั้งปล่อยน้ำดีคืนให้กับแหล่งน้ำของชุมชนต่อไป

“วันนี้ตลาดสี่มุมเมืองเป็นมากกว่าตลาด แต่เป็นเมืองแห่งโอกาสและแหล่งสร้างอาชีพเป็น Sustainable Ecosystem ที่เชื่อมโยงกันเป็นฟันเฟือง ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย แรงงาน ชุมชน โรงเรียน และเครือข่ายรถเร่สี่มุมเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ รวมกว่า 7 หมื่นคนตลอด 24 ชม. ซึ่งที่ผ่านมาการพลิกโฉมตลาดสี่มุมเมืองยุคใหม่ บริษัทใช้งบลงทุนทั้งหมดกว่า 5,000 ล้านบาท ทั้งการปรับพื้นที่โซนผักและผลไม้ ตลาดปลา ตลาดดอกไม้ สะพาน และห้องเย็นเพิ่ม

4 ทศวรรษ “ตลาดสี่มุมเมือง” เดินหน้าสู่ ตลาดค้าส่งเพื่อความยั่งยืน

ดังนั้นเพื่อให้ตลาดสี่มุมเมืองเป็นมากกว่าศูนย์กลางค้าส่งผักผลไม้ของสดชั้นนำของเอเชีย และเป็น “ตลาดค้าส่งเพื่อความยั่งยืน” ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จึงสร้าง Circular Economy ที่ดำเนินธุรกิจให้มีความสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้ง Solar panels เพื่อช่วยลดค่าใช่จ่ายไฟฟ้า 10% ต่อปี ลดต้นทุนได้ 9.6 ล้านบาทต่อปี, การรีไซเคิลขยะ ซึ่งลดค่าฝังกลบได้ 4 ล้านบาทต่อปี และสร้างรายได้เพิ่มอีก 23 ล้านบาทต่อปี, การติดตั้งบ่อบำบัดน้ำเสีย ด้วยลงทุนกว่า 40 ล้านบาท เป็นต้น”

อย่างไรก็ดี เพื่อต่อยอดธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ Customer Centricity หรือการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางด้วยการเพิ่มโซนสินค้าเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค บริษัทจึงเดินหน้าพัฒนาตลาดต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดโซนสินค้าปลาและอาหารทะเล ในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา บนพื้นที่ 6,700 ตร.ม. ประกอบไปด้วย2 โซน คือ โซนสินค้าปลาน้ำจืด ขายส่งกลุ่มปลาเศรษฐกิจ อาทิ ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ปลาช่อน ปลาสวาย ฯลฯ และสัตว์ประมงน้ำจืด โซนสินค้าอาหารทะเล ขายส่งอาหารทะเล อาทิ กุ้งก้ามกราม กุ้งแช่บ๊วย กุ้งลายเสือ กุ้งมังกร ปลากะพง ปลาอินทรีย์ ปลาหมึก หอย เป็นต้น โดยทั้ง 2 โซน เปิดให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

และในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ตลาดจะเปิดบริการตลาดดอกไม้ยุคใหม่ ซึ่งขยายพื้นที่จากตลาดดอกไม้เดิมเพิ่มขึ้น 150% บนพื้นที่ 5,200 ตร.ม. ประกอบไปด้วย 4 โซน ได้แก่ โซนดอกไม้ไหว้พระ, โซนดอกไม้ประดับ, โซนสังฆภัณฑ์และอุปกรณ์ตกแต่ง และโซนจัดแต่งดอกไม้ และในปี 2568 ตลาดได้เตรียมแผนลงทุนโครงการใหญ่ ซึ่งเป็นการลงทุนเฟสที่ 3 ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ตลาดยังไม่เคยทำมาก่อน เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

4 ทศวรรษ “ตลาดสี่มุมเมือง” เดินหน้าสู่ ตลาดค้าส่งเพื่อความยั่งยืน

“ตลาดสี่มุมเมืองมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจกับกลุ่ม B2B กว่า 40 ปี ทำให้มีความเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการเป็นอย่างดี สำหรับ ตลาดปลา อาหารทะเล ที่กำลังจะเปิด ตั้งเป้าหมายให้ที่นี่เป็น ศูนย์กลางค้าส่งปลาและอาหารทะเล แลนด์มาร์คขายส่งของผู้ที่ต้องการซื้อ ปลาน้ำจืด สัตว์ประมงน้ำจืด อาหารทะเล ที่ทันสมัย ใหญ่ และแหล่งขายวัตถุดิบอาหารราคาขายส่ง ครบจบในที่เดียว

ซึ่งการเปิดโซนสินค้าปลาและอาหารทะเลนี้ ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการซื้อขายสินค้ากลุ่มปลาน้ำจืด สัตว์ประมงน้ำจืด และอาหารทะเล ขึ้นอีก 1,500 ล้านบาท ต่อปี เจาะกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ ตลาดนัด ตลาดสด 1,000 แห่ง ร้านอาหาร โรงงาน 500 แห่ง และกลุ่ม ผู้ประกอบการตามตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน กว่า 300 ราย ด้วยจุดแข็งที่ตลาดสี่มุมเมือง คือ ศูนย์รวมผักผลไม้ของสด และสินค้าสำหรับผู้ประกอบการในราคาขายส่ง เปิด 24 ชั่วโมง ใกล้กรุงเทพฯ เพียง 5 นาทีจากดอนเมือง”

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,932 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2566