เจน 3 “สี่มุมเมือง” พลิกโฉม ‘ตลาด’ สู่เดสติเนชั่นผักผลไม้โลก

22 เม.ย. 2566 | 04:02 น.
815

เปิดมุมมอง “ปณาลี ภัทรประสิทธิ์” เจน 3 ผู้พลิกโฉม “สี่มุมเมือง” ตลาดค้าส่งผักผลไม้สดที่มีอายุกว่า 40 ปี สู่เดสติเนชั่นและแลนด์มาร์กผักผลไม้ระดับโลก รับลูกค้าไทย-เทศ พร้อมภารกิจสุดท้าทายกับการเปิดโซนใหม่ “ตลาดปลา อาหารทะเล” 17 พ.ค.นี้

หลายคนอาจมี “ภาพจำ” ว่า “ตลาดสี่มุมเมือง” เป็นตลาดค้าส่งผัก ผลไม้ ของสดเก่าๆ แออัด ร้อน หลังเปิดให้บริการมานานกว่า 40 ปี แต่หากวันนี้ใครที่แวะเวียนเข้าไปใช้บริการจะต้องร้อง “ว้าว” กับภาพลักษณ์ใหม่ที่ทันสมัย มีมาตรฐาน สะดวก สบาย ด้วยร้านค้า ร้านอาหาร ไม่ใช่มีเพียงโซนขายผัก ขายผลไม้เท่านั้น

และที่นี่กำลังจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เพราะนอกจากจะได้พบกับสินค้าผัก ผลไม้ ละลานตา ยังสามารถช้อปปิ้ง เลือกซื้อ เลือกชิมได้อย่างเต็มที่ ถือเป็นภาพใหม่ที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดและการบริหารของ “ปณาลี ภัทรประสิทธิ์” หรือคุณน้ำ ทายาทรุ่นที่ 3 ที่เข้ามารับไม้ต่อเมื่อ 3 ปีก่อน

ปณาลี ภัทรประสิทธิ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดอนเมืองพัฒนา จำกัด บอกว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุด คือ การปรับโฉมเข้าสู่ “สี่มุมเมืองยุคใหม่” ทำให้ได้เห็นถึงศักยภาพด้านการบริหารจัดการตลาดที่ทันสมัย มีมาตรฐาน เป็นต้นแบบของตลาดในประเทศไทย ทำให้ทั้งผู้ค้าและพนักงาน รู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตและพัฒนาไปพร้อมกับตลาดสี่มุมเมือง

ปณาลี ภัทรประสิทธิ์

พร้อมปรับตัวทั้งในกลยุทธ์การขายและบริการให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการผู้ซื้อ ซึ่งมีลูกค้ากลุ่ม B2B เป็นลูกค้าหลัก หลังเปิดตลาดผลไม้ยุคใหม่ ที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีลูกค้าในกลุ่ม B2C และนักท่องเที่ยวชาวต่างเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การบริหารงานท่ามกลางต้นทุน และการจัดการที่สูงขึ้น ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์หรือปรับตัวแต่ความท้าทายคือ การหากลุ่มผู้ซื้อใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ซื้อที่เข้าตลาดไม่ได้จำนวนลดลง แต่ซื้อจำนวนน้อยลงต่อราย โดยแบ่งเป็น 2 วิธี คือ ตลาดมีทีมลงพื้นที่ไปประชาสัมพันธ์และทำโปรโมชั่นเจาะที่กลุ่มผู้ซื้อโดยตรง อาทิ ตลาดสดเปิดใหม่ ตลาดนัดใหม่ และวิธีที่ 2 คือ การใช้โซเชียลมีเดีย โฆษณาเจาะตามกลุ่มผู้ซื้อ อย่างกลุ่มร้านอาหาร กลุ่มขายอาหารออนไลน์ และกลุ่มผู้ซื้อปลีกตามช่วงเทศกาล ฯลฯ

เจน 3 “สี่มุมเมือง” พลิกโฉม ‘ตลาด’ สู่เดสติเนชั่นผักผลไม้โลก

นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มโซนตลาด เติมเต็มให้มีสินค้าครบครันตามที่ลูกค้าต้องการ อาทิ การเปิดโซนตลาดปลาอาหารทะเล นอกจากนี้ ตลาดมีฝ่ายพัฒนาการค้าเพื่อช่วยเหลือผู้ขายให้มีช่องทางใหม่ๆ ในการขายสินค้าเพิ่มมากขึ้น เช่น การขายผ่านทางออนไลน์ โดยตลาดมีหน่วยรถบริการไว้คอยช่วยเหลือบริการส่งสินค้าจากร้านให้ถึงมือผู้ซื้อได้อย่างสะดวกสบาย

รวมทั้งการหาโอกาสใหม่ๆที่สามารถ create value added และลดต้นทุนในเวลาเดียวกัน เช่น โครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสามารถลดต้นทุนจากการนำขยะไปฝังกลบ ซึ่งปัจจุบันตลาดสี่มุมเมืองมีขยะวันละ 230 ตัน แต่สามารถนำขยะกว่า 40% มา Recycle และ Upsell ทำให้ประหยัดค่าฝังกลบได้ ลดค่าฝั่งกลบ 35 ล้านบาทต่อปี และทำรายได้เพิ่มอีก 23 ล้านบาทต่อปี

เจน 3 “สี่มุมเมือง” พลิกโฉม ‘ตลาด’ สู่เดสติเนชั่นผักผลไม้โลก

ปณาลี” บอกอีกว่า ภาพรวมในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาพบว่า มีปริมาณผู้ซื้อเฉลี่ย 11,000 คันต่อวัน มากกว่าปีก่อนประมาณ 6% ซึ่งมาจากผู้ซื้อรายใหม่ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งกลุ่มผู้ซื้อปลีกเข้ามามากขึ้น ขณะที่ผลไม้โดยรวมมีผลผลิตออกมาน้อยลงจากภาวะฝนทิ้งช่วง แต่ยังคาดว่าจะมีผลผลิตของผลไม้ฤดูกาลเข้ามาวางจำหน่ายเพิ่มขึ้น 10-20% คิดเป็นปริมาณผลไม้เข้าตลาดวันละ 1,500 ตัน

ล่าสุดตลาดสี่มุมเมืองยังเตรียมเปิดโซนใหม่ “ตลาดปลา อาหารทะเล” ในวันที่ 17 พ.ค. นี้ด้วย โดย “ปณาลี” เล่าถึงที่มาของแนวคิดนี้ว่า เดิมสินค้าปลาและอาหารทะเลเป็นแค่แผงค้าส่วนหนึ่งของโซนตลาดสดในสี่มุมเมืองเท่านั้น แต่เพราะเห็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นของสินค้าประเภทปลาและอาหารทะเล จึงมองเห็นโอกาสที่จะขยายจากแผงธรรมดาเป็น ตลาดปลา อาหารทะเล ยกระดับสินค้าประเภทของสดให้ครบครันในที่เดียว รองรับความต้องการของผู้ประกอบการทุกประเภท

โดยจุดเด่นของตลาดปลา อาหารทะเล คือมีฟาร์มปลาน้ำจืด ฟาร์มอาหารทะเล และบริษัทที่นำเข้าอาหารทะเลที่มีความชำนาญมาร่วมทำการค้าที่ตลาดสี่มุมเมือง 40 ราย ด้วยจุดแข็งและ Success Formula ของตลาดสี่มุมเมือง ทำให้คู่ค้าสามารถตัดสินใจได้ง่ายที่จะร่วมลงทุนทำการค้าที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น โลเคชั่นที่ได้เปรียบ

เจน 3 “สี่มุมเมือง” พลิกโฉม ‘ตลาด’ สู่เดสติเนชั่นผักผลไม้โลก

เป็นตลาดค้าส่งที่ ใกล้กรุงเทพมหานครมากที่สุด เพียง 5 นาทีจากดอนเมือง ตั้งอยู่บนถนนสายหลักพหลโยธิน ที่เป็นจุดเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯ สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถกระจายสินค้าได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ยังมีสินค้าเข้ามาจำหน่ายในตลาดกว่า 8,000 ตันต่อวัน และค้าขายได้ตลอด 24 ชม. ทุกวัน

ทั้งนี้ตลาดปลา อาหารทะเล มีพื้นที่ 6,700 ตร.ม. แบ่งออกเป็น 2 โซน คือ โซนสินค้าปลาน้ำจืด ขายส่งกลุ่มปลาเศรษฐกิจ อาทิ ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ปลาช่อน ปลาสวาย ฯลฯ และสัตว์ประมงน้ำจืด โซนสินค้าอาหารทะเล ขายส่งอาหารทะเล อาทิ กุ้งก้ามกราม กุ้งแช่บ๊วย กุ้งลายเสือ กุ้งมังกร ปลากะพง ปลาอินทรีย์ ปลาหมึก หอย เป็นต้น

โดยมีฟาร์มปลามาตรฐาน GAP และฟาร์มที่ขายส่งอาหารทะเล มาตรฐานระดับโลก อาทิ ปลาช่อนวิเศษฟาร์ม ฟาร์มปลาช่อน GAP ต้นแบบของจังหวัดอ่างทอง ปลาช่อนฟาร์มแรกในประเทศที่ผลิตปลาช่อนสดไม่มีกลิ่นคาว และยังเป็นฟาร์มปลาช่อนที่ส่งวัตถุดิบให้โรงงานแปรรูปปลาช่อนสู่เมนูสากล

เจน 3 “สี่มุมเมือง” พลิกโฉม ‘ตลาด’ สู่เดสติเนชั่นผักผลไม้โลก

อนันตา ฟาร์ม ฟาร์มที่เชี่ยวชาญด้านปลาทับทิม GAP ที่ร้านปลาแกะชื่อดังเลือกใช้ และเป็นฟาร์มที่ส่งปลาทับทิมสดขายส่งให้ห้างชั้นนำ, แพกุ้งเอก-อร ฟาร์มกุ้งชื่อดังของจังหวัดฉะเชิงเทรา จำหน่ายกุ้งสด GAP คุณภาพดีส่งออกต่างประเทศได้, Poo Crab Trang เชี่ยวชาญด้านปูทะเล ขายส่งปูทะเลสด ๆ จากธรรมชาติโดยชาวประมงจังหวัดตรัง เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีบริการเพิ่มเส้นทางรถขนส่งสินค้าตามจุดหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ ตลาดเทิดไท ตลาดเซฟวัน อำเภอเมืองพล อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด และอำเภอเมืองขอนแก่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อด้วย

ปณาลี” บอกว่า ตลาดเตรียมกลยุทธ์เพื่อสร้างการรับรู้ผ่าน Direct Marketing เน้นเข้าถึงลูกค้าที่เป็นกลุ่ม B2B ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ประกอบไปด้วย ตลาดนัด ตลาดสด ร้านอาหาร โรงงาน และกลุ่มผู้ประกอบการตามตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน รวมกว่า 3,000 ราย

เจน 3 “สี่มุมเมือง” พลิกโฉม ‘ตลาด’ สู่เดสติเนชั่นผักผลไม้โลก

นอกจากนี้ ตลาดสี่มุมเมือง ยังเพิ่มบริการด้านโลจิสติกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อที่ไม่ต้องการขนส่งสินค้าเอง โดยระยะแรกจะเริ่มจากเส้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจุดส่งสินค้าหลัก 7 จุด และจะเพิ่มเส้นทางขนส่งอีกในอนาคต ซึ่งคาดว่าหลังเปิดให้บริการโซนตลาดปลา อาหารทะเลนี้ จะเพิ่มปริมาณการซื้อขายสินค้ากลุ่มปลาน้ำจืด สัตว์ประมงน้ำจืด และอาหารทะเลขึ้นอีก 1,500 ล้านบาทต่อปี

สุดท้าย “ปณาลี” ฉายภาพตลาดสี่มุมเมืองในฝันว่า นอกจากการสร้างให้ตลาดสี่มุมเมืองเป้าเป็นนิวแลนด์มาร์ค จ.ปทุมธานี โดยมีตลาดผลไม้ เป็นไฮไลต์ดึงนักท่องเที่ยวแบบ One Day Trip เปิด 24 ชั่วโมง ให้เที่ยวได้ทั้งวันทั้งคืน ทำให้เริ่มมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาเที่ยวและซื้อผลไม้กันอย่างคึกคัก แล้วเธอไม่เคยหยุดพัฒนา และมุ่งมั่นที่จะสร้างตลาดเอง สร้างระบบเอง

และเป็นต้นแบบของการบริหารตลาดในประเทศไทย เพราะวันนี้ “สี่มุมเมือง” บริหารมากกว่าคำว่า “ธุรกิจ” แต่เป็นการบริหารเมือง ที่มีผู้คนกว่า 7 หมื่นคน ซึ่งเป้าหมายของการบริหารเมืองแห่งนี้ คือ การเปิดกว้างมอบโอกาสให้ทุกคนที่มาสี่มุมเมืองสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง และสามารถส่งต่อสิ่งดีๆ ได้จากรุ่นสู่รุ่น

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,881 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2566