หวั่นสร้าง “แลนด์บริดจ์” สะเทือน “ทะเลอันดามัน” ขึ้นบัญชีมรดกโลก

22 ต.ค. 2566 | 06:05 น.
1.4 k

วงครม. หวั่นสร้างโครงการยักษ์ “แลนด์บริดจ์” วงเงินลงทุนว่า 1 ล้านล้าน เสี่ยงกระทบการขึ้นบัญชีมรดกโลกทางธรรมชาติ พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เช็คความสำคัญของพื้นที่ ก่อนรัฐลุยลงทุน

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 มีมติให้เดินหน้าโครงการ “แลนด์บริดจ์” อภิมหาโครงการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ใน 4 ระยะ

โดยที่ประชุมครม. มีมติสั่งการให้ กระทรวงคมนาคม ลุยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ เพื่อปลุกโครงการแลนด์บริดจ์ ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากถูกพับไปหลายรัฐบาลก่อนหน้านี้

ทั้งนี้นอกจากเหตุผลความจำเป็นของการผลักดันโครงการ “แลนด์บริดจ์” ให้เกิดขึ้นแล้ว ในอีกแง่หนึ่งก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและการขึ้นทะเบียนมรดกโลก เนื่องจากการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์จำเป็นจะต้องดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 

  1. การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) 
  2. รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม Environmental Impact Assessment (EIA)
  3. รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (Environmental and Health Impact Assessment : EHIA)

 

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์”

จากการหารือในที่ประชุมครม.เกี่ยวกับการดันโครงการยักษ์ “แลนด์บริดจ์” ครั้งนี้ มีความเห็นดัง ๆ ของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงข้อกังวลต่อโครงการว่า 

ในการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์” นั้น กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ป่าเพื่อลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เหลือน้อยที่สุด 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดระนองที่มีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์และมีพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง (Ranong Biosphere Reserve) ตั้งอยู่ รวมทั้งมีพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ 

ด้วยเหตุนี้ที่ประชุมครม. จึงขอให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนโครงการ “แลนด์บริดจ์” พร้อมกำชับให้ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

สำหรับความสำคัญตามข้อห่วงใยของ รมว.วราวุธ ต่อโครงการ แลนด์บริดจ์ นั้น เนื่องจากปัจจุบัน พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน ถือเป็นแหล่งมรดกที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น ของศูนย์มรดกโลก มีขนาดพื้นที่รวม 290,800 เฮกตาร์ (1,817,500 ไร่) แบ่งเป็น พื้นที่นำเสนอ 115,955 เฮกตาร์ (724,718.75 ไร่) และพื้นที่กันชน 174,845 เฮกตาร์ (1,092,781.25 ไร่) ตั้งอยู่ในจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต ประกอบด้วย 3 นิเวศภูมิภาค คือ 

  1. ป่าชายเลนและกลุ่มเกาะชายฝั่ง (จังหวัดระนอง)
  2. หมู่เกาะทะเลลึก (จังหวัดพังงา) 
  3. ชายหาดและป่าสันทรายชายฝั่ง (จังหวัดพังงา และภูเก็ต) 

โดยครอบคลุมพื้นที่ 6 อุทยานแห่งชาติ (ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง แหลมสน หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน เขาลำปี - ท้ายเหมือง และสิรินาถ) ป่าชายเลนจังหวัดระนอง และพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง มีคุณลักษณะสรุปได้ ดังนี้

1. ป่าชายเลนและกลุ่มเกาะชายฝั่ง

ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อุทยานแห่งชาติแหลมสน และป่าชายเลนจังหวัดระนอง เป็นพื้นที่จุดเปลี่ยนสำคัญของสังคมนก  ระหว่างกลุ่มนกสายพันธุ์อินโดจีนและสายพันธุ์ซุนอาดิก มีป่าชายเลนผืนใหญ่ที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์โดยน่าจะเป็นป่าชายเลนดั้งเดิมที่ไม่ถูกรบกวนผืนใหญ่ที่สุดที่ยังเหลือในมหาสมุทรอินเดียตะวันออก และต้นไม้ในป่าคาดว่าน่าจะมีอายุมากที่สุดในป่าชายเลนประเทศไทย

ป่ามีความหลากหลายตามธรรมชาติ ภายในพื้นที่นำเสนอมีชุมชนและมีการใช้ประโยชน์ภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน และมีการกำหนดเขตการจัดการพื้นที่ที่เหมาะสมภายใต้กฎหมาย ซึ่งสะท้อนการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

 

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์”

 

2. หมู่เกาะทะเลลึก

ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เป็นหมู่เกาะนอกชายฝั่งในเขตตอนเหนือสุดในทะเลอันดามัน  เป็นแนวต่อเนื่องกับส่วนตอนใต้ของเกาะมะริด ซึ่งเป็นแนวของกลุ่มเกาะเขาหินแกรนิตที่ต่อเนื่องมาจากเทือกเขาสูง สิ่งมีชีวิตในทะเลได้รับอิทธิพลจาก 2 มหาสมุทร ได้แก่ 

  1. ฝั่งทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก 
  2. อ่าวเบงกอล และทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย  

มีกระแสน้ำประจำที่ทำให้เกิดการผสมผสานกันอย่างสลับซับซ้อนของสิ่งมีชีวิต และการผสมผสานตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรเขตร้อน ที่ไม่พบในที่อื่นใดในโลก  มีปะการังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และมีความหลากหลายของชนิดปลา

โดยพบปลามากกว่า 700 ชนิด สัตว์ในกลุ่มกุ้งปูหรือครัสเตเชียน อย่างน้อย 140 ชนิด และปะการังแข็ง 160 ชนิด และยังพบสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ เช่น ฉลามวาฬ กระเบนราหู วาฬ และโลมา ได้เป็นประจำ 

ส่วนของสังคมพืชบนเกาะ เป็นสังคมป่าดิบเขตร้อนไม่ผลัดใบ และสังคมพืชชายหาด เป็นแหล่งอาศัย และหากินของนกมากกว่า 90 ชนิด และพบค้างคาว 16 ชนิด ซึ่งมีหลายชนิดเป็นสัตว์หายาก

3. ชายหาดและป่าสันทรายชายฝั่ง

ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันตกของจังหวัดพังงา ต่อเนื่องถึงส่วนเหนือของเกาะภูเก็ต ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาลำปี - ท้ายเหมือง และอุทยานแห่งชาติรินาถ ลักษณะธรณีสัณฐานส่วนใหญ่เป็นสันทรายและเนินทรายชายฝั่ง มีแนวปะการังริมฝั่ง ห่างจากชายฝั่งประมาณ 500 เมตร ทอดตัวยาวขนานกับชายฝั่งถึงเกาะภูเก็ตทางใต้ 

เปรียบเสมือนปะการังแบบแบริเออร์ที่มีบทบาทในการเป็นแนวกำบังคลื่นลมจากมหาสมุทรอินเดีย ทำให้เกิดสันทรายชายฝั่งที่มีลักษณะเฉพาะพิเศษ และบริเวณริมชายฝั่งยังมีแนวหญ้าทะเลเกิดขึ้น บริเวณหาดท้ายเหมือง เป็นตัวอย่างของชายหาดและป่าสันทรายชายฝั่งยุคโฮโลซีนแหล่งสุดท้ายที่ยังมีความสมบูรณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใด 

ลักษณะภูมิประเทศเป็นสันทรายกว้างและหาดยาวต่อเนื่องที่มีสังคมพืชชายฝั่ง และป่าเสม็ดระเบียงในพื้นที่ด้านติดทะเลสลับกับสังคมไม้พุ่มหาดทราย มีสังคมพืชลักษณะพิเศษทั้งที่เป็นป่าพรุชายฝั่งและป่าทุ่งน้ำซับชายฝั่ง และพบพืชหายาก  

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งวางไข่ที่สำคัญของเต่าทะเล สัตว์หายากที่ใกล้สูญพันธุ์ และของเต่ามะเฟืองที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวบนชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ทางตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย และอาจเป็นชายหาดที่ใช้เป็นแหล่งวางไข่ประจำแห่งสุดท้ายบนแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์”

 

อย่างไรก็ตามภายใต้เอกสารนำเสนอครม.นั้น กระทรวงคมนาคม ระบุว่า ตำแหน่งที่ตั้งของท่าเรือฝั่งอันดามันในจังหวัดระนอง ปัจจุบันได้กำหนดตำแหน่งที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ซึ่งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนองและอุทยานแห่งชาติแหลมสน

โดยพื้นที่ของโครงการแลนด์บริดจ์ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่ ทส. อยู่ระหว่างการเสนอขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นแหล่งมรดกโลกเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก แต่อยู่ในเขตที่กำหนดเป็นพื้นที่เขตแนวกันชน (Buffer Zone) ซึ่งอยู่ในระยะ 3 กิโลเมตร จากพื้นที่ที่เสนอขึ้นทะเบียน ซึ่งจะต้องมีการหารือระหว่างกระทรวงคมนาคม และ ทส. ต่อไป

ส่วนจะได้ข้อสรุปอย่างไรนั้น ฐานเศรษฐกิจ จะรายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป