"SMEs" ลั่นขอรัฐพักต้นลดดอก ไม่ต้องปรับโครงสร้างหนี้

16 ต.ค. 2566 | 20:00 น.

"SMEs" ลั่นขอรัฐพักต้นลดดอก ไม่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ "อภิชิต ประสพรัตน์" เผยหลังหารือกับผู้ประกอบการ ชี้เพื่อเป็นการลดงบประมาณของภาครัฐ และลดระยะเวลาการเดินหน้ามาตรการ

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต หรือเอสเอ็มไอ (SMI) เปิดเผยถึงนโยบายรัฐบาลที่เตรียมออกมาตรการพักหนี้เอสเอ็มอี (SMEs) ว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการให้รัฐปรับโครงสร้างหนี้ แต่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการลดดอกเบี้ยเป็นหลัก 

ทั้งนี้ เพื่อลดงบประมาณภาครัฐ และลดระยะเวลาการเดินหน้ามาตรการ เพราะหากรัฐบาลเดินหน้านโยบายช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้วยการประกาศมาตรการพักดอกลดต้น จัดสรรวงเงินเข้าอุดหนุนเฉพาะดอกเบี้ย เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันที

"สำหรับมาตรการพักดอกลดต้นนั้น เมื่อเอสเอ็มอีมีหนี้และจำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยครั้งละ 500,000 บาท หากรัฐบาลลดหรือเว้นดอกเบี้ยให้ส่วนนี้ จะทำให้เอสเอ็มอีมีเงินเหลืออีก 500,000 บาท และให้นำส่วนนี้มาคืนเงินต้น จะทำให้เงินลดต้นลดลง และทำให้ดอกเบี้ยในระยะถัดไปลดลงได้อีก"

อย่างไรก็ดี ล่าสุด ส.อ.ท.อยู่ระหว่างทำงานร่วมกับทีมงานของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยหลังจากหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 6 ตุลาม และส.อ.ท.ได้นำเสนอ 8 แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้จัดทำแอคชั่นแพลน ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวที่ชัดเจน และหารือร่วมกันอีกครั้ง 

หนึ่งในนั้นคือ ข้อเสนอของเอสเอ็มอีที่เอสเอ็มไอจัดทำ คือ การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการทางการเงินเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2% จากปัจจุบันอยู่ที่ 5-6% 

รวมทั้งออกมาตรการเพิ่มการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ออกมาตรการพักดอกลดต้น และขยายเวลาปลอดต้นเป็น 5 ปี จากปัจจุบัน 2 ปี 

นอกจากนี้ ยังต้องการให้ลดภาษีสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีลง 5% เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับเอสเอ็มอีในวงเงินที่เหมาะสม เพื่อให้เอสเอ็มอีนำเทคโนโลยีออโตเมชั่นและโรบอติกมาลดต้นทุนการผลิตและทดแทนกำลังแรงงานที่ขาดแคลน