"ส.อ.ท." จับสถานการณ์ความขัดแย้งโลก ห่วงกระทบไทยหนัก

16 ต.ค. 2566 | 09:47 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2566 | 09:47 น.

"ส.อ.ท." จับสถานการณ์ความขัดแย้งโลก ห่วงกระทบไทยหนัก ทั้งการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงกรณีการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส และบริเวณทะเลจีนใต้ที่เริ่มมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะใน 3 สมรภูมิหลักสำคัญ ได้แก่ การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงล่าสุดกรณีการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส และบริเวณทะเลจีนใต้ที่เริ่มมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวหากบานปลายย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องวางแผนรับมือ

สำหรับผลกระทบการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนจะเห็นชัดเจนในด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และวัตถุดิบต่างๆ โดยเฉพาะปุ๋ย ฯลฯ ทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยกระทบ 

ขณะที่การสู้รบในอิสราเอลหากจำกัดพื้นที่จะกระทบราคาน้ำมันให้ผันผวนระดับสูงระยะสั้นเท่านั้นแต่ในส่วนอื่นๆ จะกระทบไม่มาก แต่หากสถานการณ์บานปลายมีหลายชาติพันธมิตรเข้าร่วมในการทำสงครามก็อาจจะส่งผลให้สงครามยืดเยื้อและมีผลกระทบมากขึ้นเนื่องจากภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบที่สำคัญของโลกจะส่งผลราคาน้ำมันอาจเห็นระดับ 100 เหรียญ/บาร์เรลขึ้นไปได้เช่นกัน

ด้านสถานการณ์ในทะเลจีนใต้นั้นหากเกิดขึ้นจะกระทบไทยมากที่สุดเนื่องจากในบริเวณดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับเส้นทางขนส่ง(โลจิสติกส์)ทั้งด้านพลังงาน สินค้าต่างๆ โดยเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ ที่จะกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต(ซัพพลายเชน)ของอุตสาหกรรมต่างๆจะสะดุดลง ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างสูงหากเกิดขึ้น จึงได้แต่หวังว่าเหตุการณ์ในภูมิภาคนี้จะไม่ซ้ำรอยเช่นภูมิภาคอื่น

อย่างไรก็ดี ในส่วนของประเทศไทยนั้น ระยะสั้นคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นซึ่งภาครัฐก็ได้เข้ามาดูแลส่วนของดีเซลและค่าไฟฟ้าก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่ลืมว่าหากสถานการณ์บานปลายไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซฯจะกระทบหนัก โดยมาตรการดูแลพลังงานโดยเฉพาะดีเซลจะสิ้นสุดใน 31 ธ.ค.66 นี้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อในปี 2567 จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมมาตรการต่างๆไว้ดูแลเศรษฐกิจ