โฆษกรัฐบาล ยกข้อมูล IMF ธปท. สศช. อ้างความจำเป็นแจกเงินดิจิทัล

15 ต.ค. 2566 | 11:54 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2566 | 11:59 น.

โฆษกรัฐบาล ยกข้อมูล IMF ธปท. สศช. อ้างความจำเป็นต้องลุยแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชี้เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวช้า คนรายได้น้อยรายได้ไม่เพียงพอ แถมมีหนี้สูง

นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า นโยบายเติมเงินดิจิทัล จะเป็นหนึ่งในนโยบายที่นอกจากสร้างโอกาส กระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ประชาชนเป็นกลไกหลักในการใช้จ่าย ยังเพิ่มโอกาสเพิ่มศักยภาพในการฟื้นตัวของครัวเรือนและของประเทศ

ทั้งนี้โฆษกรัฐบาล ยังอ้างข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปี 2566 ระบุการเติบโตของ GDP ไทยทรุดหนักสุด และฟื้นตัวช้าสุด รวมทั้งข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานสภพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์ประเทศไทย หนี้ครัวเรือนไทยเป็นอันดับ 7 ของโลก ส่งผลกระทบโดยเฉพาะถึงกลุ่มฐานราก 

สะท้อนว่าประชาชนมีความสามารถในการหารายได้ต่ำลง ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยนอกจากจะฟื้นตัวช้า รายได้ไม่เพียงพอ และยังมีหนี้ที่ทำให้ไม่สามารถมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่โตตามศักยภาพ จึงไม่ฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนโควิด ดังนั้นนโยบายเติมเงินดิจิทัล จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้

 

นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

พร้อมกันนี้โฆษกรัฐบาล ยังอ้างถึงข้อมูลเสียงของประชาชนที่สนับสนุนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งมีการรายงานลงในสื่อหลายแห่ง ซึ่งสนับสนุนการดำเนินนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาลด้วย 

“อยากให้ผู้ที่คิดต่าง เปิดใจ ทำความเข้าใจถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายนี้เชื่อมั่นว่าประชาชนที่ไม่มีเงินทุนในการตั้งตัวจะสามารถสร้างเป็นอาชีพ เพิ่มรายได้ปรับวิถีชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของประชาชนทุกคนที่มีสิทธิ์” นายสัตวแพทย์ชัย กล่าว

 

นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ก่อนหน้านี้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาระบุถึงการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า รัฐบาลยืนยันว่า การผลักดันนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยใช้เงินกว่า 5.6 แสนล้านบาท จะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของรัฐ เพราะรัฐบาลสามารถบริหารจัดการเรื่องของการเงินได้ และที่สำคัญคือ เมื่อทำแล้วต้องไม่กระทบต่อเครดิตเรทติ้งของประเทศ เพราะถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

“รัฐบาลจะรับพังและพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งข้อคิดเห็นที่มีตอนนี้ ในระบบประชาธิปไตยสามารถตรวจสอบตัวเลขต่าง ๆ ได้ และต้องดูด้วยความเป็นธรรม ไม่มีอคติ หรือหวังผลประโยชน์ทางการเมือง หรือจ้องจะทำลายความน่าเชื่อถือ รัฐบาลเชื่อว่า ถ้าเราร่วมมือแล้วประเทศจะไปได้ดี แต่ถ้ามีข้อวิจารณ์ก็ขอให้วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ เพราะล้วนเป็นประโยชน์ต่อระบบประชาธิปไตย” นพ.พรหมินทร์ กล่าว