ตอบทุกข้อคาใจ 'เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท' ได้หรือเสีย?

10 ต.ค. 2566 | 19:59 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2566 | 20:12 น.
979

แม้จะมีนักวิชาการ-นักเศรษฐศาสตร์ ยื่นรายชื่อขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท แต่รัฐบาลยืนยันชัด เดินหน้านโยบาย สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ตอบทุกข้อคาใจ นโยบายสมเหตุสมผล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เม็ดเงินหมุนในประเทศได้

หลังจากมีนักวิชาการ-นักเศรษฐศาสตร์กว่า 100+ คน แสดงข้อเป็นห่วงส่งถึงรัฐบาล และยื่นรายชื่อเพื่อคัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยขอให้รัฐบาลทบทวนการแจกเงิน เนื่องจากเม็ดเงินที่นำมาใช้ในนโยบายนี้ มีจำนวนเงินกว่า 5.6 แสนล้านบาท เป็นจำนวนมหาศาลกว่าที่คิด รัฐจะสูญเสียงบประมาณเพื่อไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่งผลต่อวินัยการเงินการคลังของรัฐ สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจประเทศระยะยาว จะกลายเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย

แต่ท่ามกลางข้อถกเถียงที่เกิดขึ้น รัฐบาลยังคงยืนยันเดินหน้า ไม่ถอยหลัง ประกาศชัด เดินหน้านโยบาย และจะเติมเงินดิจิทัลให้ทุกคนและไม่มีการแบ่งจ่าย โดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท แจงชัดว่า นโยบายนี้จะมีตัวคูณทางเศรษฐกิจมากกว่านโยบายอื่นแน่นอน เพราะได้พิจารณาถึงรายละเอียด กรอบกฎหมายรวมถึงภาระทางการเงินการคลัง โดยมีการกำหนดเงื่อนไข วิธีการชัดเจน เพื่อนำไปสู่การบริโภคอุปโภคและการลงทุน สร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศได้เป็นอย่างดี

ตอบทุกข้อคาใจ 'เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท' ได้หรือเสีย?

ฐานเศรษฐกิจสอบถามประเด็นนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทผ่าน สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง โดย นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยผ่านรายการ THANTALK ช่องเนชั่นทีวี 22 ตอบทุกประเด็นเรื่องคาใจ 'เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท'

สัมภาษณ์นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ รายการ THANTALK 10.10.23

ประเด็นที่ 1 : ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบายถึงความไม่จำเป็นของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในส่วนที่จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการบริโภค เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีตัวเลขการบริโภคที่กำลังเพิ่มขึ้น

นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ชี้แจงว่า GDP ไตรมาส 2 ปี 2566 อยู่ที่ 1.8% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะโต 3% ในขณะที่ไส้ในของ GDP ประเทศ ภาคการบริโภคไตรมาส 2 โตถึง 7.8% เป็นสถิติสูงที่สุดในรอบ 20 ปี แต่ตัวเลขดังกล่าวมีความขัดแย้งกัน เนื่องจากรายได้ GDP โตต่ำเช่นนี้ คนจะเอาเงินจากไหนไปบริโภค 

ถ้าย้อนกลับไปใน ปี 2563-2565 พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับของรัฐบาลที่ผ่านมา พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท กับ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ทำให้เกิดการบริโภคที่สูงเกินจริง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีนี้ ตัวเลขของการบริโภคที่โต เป็นช่วงระยะเวลาของการเลือกตั้ง การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศจึงสูงมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจ ที่ตัวเลขที่สภาพัฒน์ฯ ได้ประกาศออกมา อาจทำให้สามารถตีความได้ว่า “เศรษฐกิจและการบริโภคของไทยกำลังฟื้นตัว” แต่เป็นเพียงปรากฎการณ์ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าไม่ดำเนินการใด ๆ ต่อ การเติบโตก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก็คือโตประมาณ 2-3% = โตปีละ 4-6 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการกระจายเม็ดเงินมาสู่ประชาชนระดับรากหญ้า และประเทศไทยไม่สามารถโตใน 2-3% ได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่บนพื้นฐานการเติบโต 5% ในอนาคต

ประเด็นที่ 2 : นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ควรแจกทุกคน ควรแจกเฉพาะจุด เนื่องจากผู้ที่ไม่เดือดร้อน ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น

โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ≠ โครงการเยียวยาเศรษฐกิจ

นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ชี้แจงว่า การที่เอาคนที่มีฐานะออกไป จำนวนที่ออกไปนั้นมีแค่นิดเดียว จากการศึกษาของ Economics of Coupon หรือเศรษฐศาสตร์แห่งคูปอง คนรวยจะซื้อคูปองในการซื้อของชิ้นใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ซื้อของ 1 ชิ้น ในราคา 40,000 บาท โดยใช้คูปอง 10,000 บาท มาเป็นส่วนลด และจ่ายเงินส่วนตัว 30,000 บาท ซึ่งในลักษณะนี้ถือเป็นมาตรการจูงใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลหลายประเทศได้ดำเนินการมา เพราะสร้างแรงจูงใจให้ใช้เงินส่วนตัวเพิ่มขึ้น เป็นการหมุนเศรษฐกิจโดยการถูกชักจูงผ่านมาตรการรัฐบาล

กระตุ้นการบริโภค

ประเด็นที่ 3 : ในส่วนของผู้ที่ไม่ได้มีกำลังในการใช้จ่าย การนำเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะถูกนำไปใช้แทนการใช้จ่ายเดิม และเม็ดเงินในเศรษฐกิจอาจจะไม่หมุนครบตาม 1 รอบ หรือ Fiscal Multiplier ที่คาดว่ามีเพียง 0.4 เท่า นโยบายนี้เกิดความไม่คุ้มค่าหรือไม่

นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ชี้แจงว่า อาจจะเป็นการเข้าใจที่คาดเคลื่อน การได้บอก 0.4 เท่า เกิดขึ้นเพียงแค่ปีเดียว แต่เงินที่หมุนยังเศรษฐกิจ ยังคงอยู่ต่อ เพราะยังสามารถสร้าง Multiplier ที่เป็นการสะสมทุนในระบบเศรษฐกิจไปอย่างน้อย 12 ไตรมาส ดังนั้นเราต้องรวมผลที่เกิดขึ้นข้างหน้าด้วย ไม่ใช่ผลแค่ปีเดียว

“Fiscal Multiplier นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท
ตัวส่วน = 5.6 แสนล้านบาท
ตัวเศษ = มูลค่าเพิ่ม หรือ GDP ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนมือ คือการจับจ่ายใช้สอย สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น”

เงินจะรั่วออกไปก็ต่อเมื่อมีคนไม่ยอมนำไปใช้จ่าย หรือการออมเงินไว้ ในขณะที่อีกคนได้เงินไปแล้ว ไปซื้อของจากต่างประเทศ เงินจำนวนนั้นก็รั่วออกไปนอกประเทศ สิ่งที่เป็นข้อกังวลที่คนรายได้ต่ำจะนำไปใช้แทนการใช้จ่ายเดิม ทดแทนด้วยการที่ผู้มีรายได้น้อยสามารถนำเงินที่เหลือไปชำระหนี้อย่างอื่นได้ เพราะรัฐบาลให้เป็นคูปองมา เนื่องจากคูปองบังคับใช้ภายใน 6 เดือน เงินที่เหลือในส่วนที่ประหยัดไปจากการใช้คูปอง 10,000 บาท ก็สามารถนำไปชำระหนี้ ลดภาระหนี้อย่างอื่นแทนอีกได้

“เลขที่ควรจะเป็นของ Fiscal Multiplier คือ 0.9 - 1.2% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ”

พฤติกรรมการบริโภคส่วนบุคคลที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาสำคัญมาก การเอาผลการศึกษาของปีก่อน ๆ มาสรุปเป็นพฤติกรรมในปัจจุบัน ไม่สามารถทำได้แล้ว

สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ สัมภาษณ์รายการ THANTALK 10.10.23

ประเด็น 4 : รัฐบาลเอาเงินมาจากไหน ​?

นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ชี้แจงว่า มีหลายฉากทัศน์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ปีงบประมาณ 2566 ที่จบไปแล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไทยเก็บภาษีได้เกินเป้า 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากอานิสงค์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจจาก พ.ร.ก.กู้เงิน แสดงให้เห็นว่ามันมีผลของเวลา ผลจากการเก็บภาษีมาอยู่ในปีงบ 2566

  • ฉากทัศน์ 1 : ถ้ารัฐบาลเอาเงินมาใช้สำหรับนโยบายนี้ ก็ออกเป็น พ.ร.ก.เงินกู้ ซึ่งอาจจะขัดกับที่เคยหาเสียงไว้ว่าจะไม่กู้ 
  • ฉากทัศน์ 2 : นโยบายกึ่งการคลัง
  • ฉากทัศน์ 3 : ขายหุ้นบางส่วนจากรัฐวิสาหกิจ (ในส่วนนี้เป็นไปได้ยาก)

นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโต 2% อนาคตอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเงินการคลังในประเทศ ส่งผลต่อเงินบำนาญ เงินเดือนข้าราชการ โดยการทำงานปีสุดท้ายของรัฐบาลปี 2570 หากรัฐบาลสามารถดัน GDP ไทยให้โตได้ 5% จะส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ลงมาต่ำกว่า 60% (ปัจจุบันสาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 62%)