"รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" ชงครม.เคาะ 10 ต.ค. คาดเริ่มใช้ 1 ธ.ค.นี้

07 ต.ค. 2566 | 14:49 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2566 | 14:49 น.

รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย : เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 10 ตุลาคม 66 พิจารณานำร่อง 2 สาย คือ สายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน – บางซื่อ – รังสิต คาดทันใช้ 1 ธันวาคม นี้

นายพิเชษฐ์ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณานำร่อง ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสาย  2 สายคือ สายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน – บางซื่อ – รังสิต โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566

สำหรับผู้ที่จ่ายค่าโดยสารระหว่าง 14 - 17 บาท จะจ่ายในราคาเดิม ส่วนผู้โดยสารที่จ่ายค่าโดยสารในราคามากกว่า 20 บาท จะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าในราคา 20 บาท รวมทั้งมีส่วนลดสำหรับผู้สูงอายุโดยจะได้ใช้บริการในราคา 10 บาท  

 

“รถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดงเป็นสายที่รัฐบาลดูแลทำให้สามารถลดราคาค่าโดยสาร 20 บาทลงได้ แต่แน่นอนว่ารัฐบาลต้องนำเงินงบประมาณมาสนับสนุน แต่เชื่อว่าคุ้มค่าเพราะทำให้ประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดฝุ่น PM2.5 ลงเนื่องจากคนใช้รถยนต์น้อยลง” 

เปิดต้นทุน "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย"

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า  สิ่งที่ รฟม. ได้ดำเนินการไปแล้วในส่วนของค่าโดยสาร คือ การลดค่าแรกเข้าระหว่างสายสีเหลือง น้ำเงินและม่วง และในปลายปีนี้ หากสายสีชมพูเปิดดำเนินการก็จะมีการลดค่าแรกเข้าเช่นกัน โดยการดำเนินการรถไฟฟ้าราคา 20 บาทของ รฟม.จะเริ่มที่สายสีม่วง 

ทั้งนี้ประเมินว่า นโยบายรถไฟฟ้าราคา 20 บาท จะส่งผลให้รายได้ค่าโดยสารสายสีม่วงลดลงประมาณ 190 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 60% ของรายได้ปัจจุบัน แต่คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารสายสีม่วงเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน คือจาก 5.6 เป็น 6.6 หมื่นคนต่อวัน ทำให้มีต้นทุนค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท แม้ต้นทุนจะสูงกว่าค่าโดยสาร 20 บาท และรัฐต้องเข้าไปสนับสนุนแต่ถือว่ามีความคุ้มค่ามากกว่า ในเรื่องมลพิษทางอากาศ ลดการใช้น้ำมัน

 

ผู้โดยสารประหยัดลงเท่าไร


รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย : ดำเนินการเดินรถโดยภาครัฐ ได้แก่

  • รถไฟสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-รังสิต รวมระยะทางทั้งสิ้น  41 กิโลเมตร (กม.) มีจำนวน 13 สถานี ราคาปัจจุบันอยู่ที่  14-42 บาท
  • รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ รวมระยะทาง 23 กิโลเมตร (กม.) มี 16 สถานี  ราคาปัจจุบันอยู่ที่  14-42 บาท

ดังนั้นการที่รัฐบาลได้ดำเนินการปรับค่าโดยสารเป็น 20 บาท ตลอดเส้นทาง จะช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยหากเทียบจากราคาสูงสุดปัจจุบันที่ 42 บาท จะภาระลดลงได้มากกว่าเท่าตัว

ส่วนการคิดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าข้ามสาย โดยจัดเก็บค่าโดยสารในราคา 20 บาทนั้น ยกตัวอย่างเช่น หากบ้านอยู่ที่รังสิตจะเดินทางเข้ามาในเขตชั้นในของกรุงเทพฯ หรือเดินทางมาที่สยามสแควร์ สามารถนั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงจากสถานีรังสิตลงที่สถานีบางซื่อ หลังจากนั้นสามารถเดินทางต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินลงสถานีจตุจักร เพื่อเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงที่สถานีสยาม ปัจจุบันจะต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 108 บาท หากนโยบายนี้ประสบความสำเร็จ จะทำให้ประชาชนเสียค่าโดยสารเพียง 20 บาทตลอดสาย ซึ่งมีส่วนต่างถึง 88 บาท