“สภาองค์กรผู้บริโภค” เปิดต้นทุน รถไฟฟ้า 20 บาท ทุกสายทำได้

07 ต.ค. 2566 | 13:49 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2566 | 13:54 น.

“สภาองค์กรของผู้บริโภค” ถกกรมรางฯ - รฟม. ยันค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ทุกสายทำได้ แนะรัฐบาลอุดหนุน ช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชน ฟากนักวิชาการวอนรัฐ ดันคนไทยสร้างรถไฟฟ้าเอง ขึ้นแท่นวาระแห่งชาติ

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า สภาผู้บริโภคได้จัดเสวนาเปิดต้นทุน รถไฟฟ้า 20 บาท ทำได้ทุกสายทุกคนขึ้นได้สนับสนุนนโยบายรัฐบาลรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พร้อมยืนยันว่าสามรถทำได้จริง ในเมื่อสายสีแดงและสีม่วงรัฐบาลต้องอุดหนุนอยู่แล้วจากการขาดทุน ดังนั้นหากการทำค่าโดยสารถูกลง และมีคนใช้บริการเพิ่มขึ้นก็จะทำให้โอกาสสายสีแดง และสายสีม่วงมีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน  


 
“สภาผู้บริโภค เห็นว่าการชดเชยขนส่งมวลชนเป็นเรื่องที่ทำทั่วโลกทำกัน และ ไม่มีที่ไหน ที่ประชาชนจะจ่ายค่าขนส่งสาธารณะแบบ 100 เปอร์เซ็นต์แต่จะทำอย่างไรให้เกิดค่าโดยสารราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคมากที่สุด” เลขาธิการสภาผู้บริโภคกล่าว
 

นางสาวสารี  กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะใน 32 จังหวัดเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป โดยได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผลักดันให้ผู้บริโภคสามารถใช้ บริการขนส่งสาธารณะ ได้ทุกคน ทุกวัน  ในราคาค่าบริการขนส่งมวลชนไม่เกินร้อยละ 5 - 10  ของค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่เกิน 35 บาทต่อวัน โดยได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวไปไปยังรัฐบาลเพื่อให้พิจารณาแล้วเช่นกัน


 
“เราสนับสนุนรัฐบาลในนโยบายรถไฟฟ้าราคา 20 บาทและเรามั่นใจว่าสามารถทำได้ นอกจากนี้เรายังเห็นว่าการกำหนดราคารถไฟฟ้า 20 บาทจะทำให้ทุกคนสามารถเดินทางได้ทุกวันไป - กลับวันละ 40 บาทใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำมากขึ้นจึงเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งมวลชน  และสภาผู้บริโภคจะเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังทั้งในกทม. และต่างจังหวัดเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงการเดินทางที่สะดวก ปลอดภัย ราคาเป็นธรรม” 
 

นายพิเชษฐ์ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ คณะรัฐมนตรีจะพิจารณานำร่อง ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาท 2 สาย คือ สายสีม่วงช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน – บางซื่อ – รังสิต โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม โดยผู้ที่จ่ายค่าโดยสารระหว่าง 14 - 17 บาทจะจ่ายในราคาเดิม ส่วนผู้โดยสารที่จ่ายค่าโดยสารในราคามากกว่า 20 บาทจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าในราคา 20 บาท รวมทั้งมีส่วนลดสำหรับผู้สูงอายุโดยจะได้ใช้บริการในราคา 10 บาท  

 

“รถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดงเป็นสายที่รัฐบาลดูแลทำให้สามารถลดราคาค่าโดยสาร 20 บาทลงได้ แต่แน่นอนว่ารัฐบาลต้องนำเงินงบประมาณมาสนับสนุน แต่เชื่อว่าคุ้มค่าเพราะทำให้ประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดฝุ่น PM2.5 ลงเนื่องจากคนใช้รถยนต์น้อยลง” 

 

ทั้งนี้ขนส่งมวลชนถือเป็นบริการสาธารณะที่รัฐบาลต้องสนับสนุน จึงไม่อยากให้มองว่าทำไมรัฐบาลจึงนำเงินมามาอุดหนุนเฉพาะระบบราง เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลก็ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เช่น ระบบถนน เช่นเดียวกับการอุดหนุนเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าก็เพื่อไม่ต้องการให้ประชาชนแบกค่าโดยสารและทำให้ประชาชนเข้าถึงการเดินทางมากขึ้น


  
นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า  สิ่งที่ รฟม. ได้ดำเนินการไปแล้วในส่วนของค่าโดยสาร คือ การลดค่าแรกเข้าระหว่างสายสีเหลือง น้ำเงินและม่วง และในปลายปีนี้ หากสายสีชมพูเปิดดำเนินการก็จะมีการลดค่าแรกเข้าเช่นกัน ทั้งนี้การดำเนินการรถไฟฟ้าราคา 20 บาทของ รฟม.จะเริ่มที่สายสีม่วง  

 

ขณะเดียวกันนโยบายรถไฟฟ้าราคา 20 บาทจะส่งผลให้รายได้ค่าโดยสารสายสีม่วงลดลงประมาณ 190 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณร้อยละ 60 ของรายได้ปัจจุบัน แต่คาดว่าจะมี จำนวนผู้โดยสารสายสีม่วงเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน คือจาก 5.6 เป็น 6.6 หมื่นคนต่อวัน ทำให้มีต้นทุนค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท แม้ต้นทุนจะสูงกว่าค่าโดยสาร 20 บาท และรัฐต้องเข้าไปสนับสนุนก็ถือว่ามีความคุ้มค่ามากกว่า ในเรื่องมลพิษทางอากาศ ลดการใช้น้ำมัน 


 
รศ.ดร.ประมวล สุรีจารุวัฒน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากรัฐดำเนินนโยบายเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายในรถไฟฟ้าทุกสี รัฐจะต้องอุดหนุนงบประมาณ ปีละ 12,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลข 12,000 บาทต่อปี เป็นการคิดคำนวณการเดินทางของผู้โดยสารข้ามไปมาแค่ 2 สายเท่านั้น  

 

“หากรัฐบาลทำโครงการรถไฟฟ้าราคา 20 บาทนำร่อง สีม่วงกับสีแดง รัฐต้องเตรียมเงินชดเชย  90 ล้านบาท ดังนั้น ในระยะสั้นของการทำโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในรถไฟฟ้าทุกสาย รัฐต้องอุดหนุนปีละ12,000 ล้านบาท” รศ.ดร.ประมวลกล่าว 

 

รศ.ดร.ประมวล กล่าวต่อว่า สำหรับแผนลดการอุดหนุนค่าโดยสารของรัฐบาลในระยะยาว 2 ข้อ คือ 1.หาวิธีการลดต้นทุน เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าขบวนรถไฟฟ้าจากต่างประเทศทั้งหมด ดังนั้นหากต้องการลดต้นทุน รัฐบาลต้องมีแผนในการสร้างขบวนรถไฟฟ้าเอง เป็นอุตสาหกรรมใหม่เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ 


   
2.รัฐต้องพัฒนาพื้นที่ ในส่วนที่ รฟม. รฟท. และกทม. เป็นเจ้าของที่ดินให้สามารถนำไปทำธุรกิจประเภทอื่นได้เพื่อพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ให้หารายได้มาชดเชยค่าโดยสารที่รัฐบาลสนับสนุนไป โดยในเรื่องนี้ อาจจะต้องมีการแก้กฎหมาย ซึ่งต้องมีการหารือในประเด็นนี้ต่อไปในอนาคต

 
 
“สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เรื่องราคา แต่หัวใจสำคัญคือรัฐเอาเงินไปอุดหนุน ผมรอว่ารัฐจะมีแผนสอง แผนสาม อย่างไร เพื่อลดต้นทุนและไปสร้างประโยชน์จากธุรกิจอื่นได้ เพื่อลดต้นทุน นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายและอยากให้นายกรัฐมนตรีมองเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติและรีบมาทำ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถสร้างรถไฟฟ้าได้ด้วยตัวเองไม่ต้องนำเข้าตัวรถจากต่างประเทศ”