“ครม.เศรษฐา” อนุมัติก่อหนี้ใหม่เพิ่ม 1.94 แสนล้านบาท

26 ก.ย. 2566 | 15:05 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2566 | 15:07 น.

ที่ประชุมครม. อนุมัติ แผนการบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 ก่อหนี้ใหม่รวม 1.94 แสนล้านบาท แผนการบริหารหนี้เดิม 1.62 ล้านล้านบาท ยันแผนที่เสนออยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี

(26 ก.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติ แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 เฉพาะในส่วนที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติแล้ว 

การบริหารหนี้ที่ครบกำหนด และการชำระหนี้ที่ประกอบด้วย 

1.แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 194,434.53 ล้านบาท 

2.แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,621,135.22 ล้านบาท

3.แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 390,538.63 ล้านบาท 

ทั้งนี้ การดำเนินงานตามแผนฯ หน่วยงานภายใต้แผนฯ จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย

สาระสำคัญของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 มี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.แผนการก่อหนี้ใหม่ ประกอบด้วย (1) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2566 ที่มีการขยายเวลากู้เงินออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปีวงเงิน 40,000 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อดำเนิโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (2) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ เป็นการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาที่สำคัญ รวมถึงเป็นการกู้เงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ 

2.แผนการบริหารหนี้เดิม ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิมที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2567

3.แผนการชำระหนี้ ประกอบด้วย แผนการชำระหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณ ปี 2567 วงเงิน 336,807 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่นๆ วงเงิน 53,731.63 ล้านบาท

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยในแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 มีรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ 1.การเคหะแห่งชาติ (กคช.) บริษัท 2.ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) 3.การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ 4.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการต่ำกว่า 1 เท่า 

สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 ทั้งนี้ขอให้ทาง รฟท. และ ขสมก. เร่งรัดดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอสำหรับการชำระหนี้ 

และเพื่อทำให้ฐานะทางการเงินของหน่วยงานดีขึ้น โดยขอให้ รฟท. และ ขสมก. รายงานความก้าวหน้า รวมทั้งปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงานต่อคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อทราบต่อไป

อย่างไรก็ตามจากประมาณการ หนี้สาธารณะคงค้างต่อ จีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 จากการดำเนินการตามแผนที่เสนอในครั้งนี้ จะยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดที่ไม่เกิน 70%