นักวิชาการ ชี้ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ทำยาก สศช.ห่วง 15 ปี วัยทำงานลดเหลือครึ่ง

25 ก.ย. 2566 | 19:00 น.

นักวิชาการ ชี้รัฐบาลปรับ "ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ" ทำยาก หากทีเดียวตามนโยบายไม่น่าจะขึ้นได้ในรัฐบาลปัจจุบัน ด้าน สศช. ห่วงวัยทำงานของไทย ลดฮวบ ระบุอีกแค่ไม่เกิน 15 ปี คนวัยทำงานลดเหลือครึ่งเดียว

ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการของสายงานประจำปี 2566 เรื่อง “ตลาดแรงงานไทย : ข้อจำกัดและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย” ว่า ที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองพยายามจะออกนโยบาย "ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ" ซึ่งหากดูตามข้อเท็จจริงแล้วแนวโน้มการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจริงจะถูกปรับขึ้นน้อยมาก และเห็นการปรับขึ้นอย่างจริงจัง คือวันละ 300 บาท คือในสมัยรัฐบาลก่อนเท่านั้น

“จริง ๆ ในเชิงของรัฐศาสตร์มีการวิเคราะห์ว่าค่าจ้างที่ขึ้นได้หรือไม่ได้ อยู่ที่ภาครัฐจะเอื้อไปกับนายจ้าง หรือจะเอื้อไปกับลูกจ้าง และที่ผ่านมาการปรับขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาท ตอนนั้นเหมือนว่าจะโน้มเอียงไปทางลูกจ้าง แต่ภาพที่มีมาในอดีตส่วนมากจะโน้มเอียงไปฝั่งนายจ้าง และรัฐบาลปัจจุบันก็น่าจะเป็นไปแบบนั้นด้วย โดยส่วนตัวเดาว่า การขึ้นค่าจ้างทีเดียวตามนโยบายก็คงไม่น่าจะขึ้นได้ในรัฐบาลปัจจุบัน”

 

งานสัมมนาวิชาการของสายงานประจำปี 2566 เรื่อง “ตลาดแรงงานไทย : ข้อจำกัดและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย”
 

ศ.ดร.พิริยะ กล่าวว่า ความสำคัญของด้านตลาดแรงงาน ถือเป็นตลาดที่มีความหลากหลายสูง ส่งผลให้การออกแบบนโยบายไม่สามารถปรับใช้เฉพาะแบบเดียวได้ และภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างความสมดุล คุ้มครอง และพัฒนาตลาด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ตลาดแรงงานไทยประสบกับความท้าทายหลายด้านในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่เผชิญกับการลดลง ทั้งจำนวนแรงงานและผลิตภาพแรงงาน 

ขณะเดียวกัน ยังมีประเด็นความท้าทายของตลาดแรงงานที่สำคัญในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด เช่น การว่างงานที่นานเกินไป ซึ่งก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ ทักษะล้าสมัย หรือไม่มีความต้องการกลับมาทำงานเดิม หรือแรงงานเลือกงานมากขึ้น และมีความคาดหวังของทักษะแรงงานมากขึ้น เป็นต้น 

นอกจากนี้ ตลาดแรงงานยังเผชิญประเด็นข้อจำกัดสำคัญ ทั้ง ระบบการศึกษาที่ยังไม่สามารถผลิตแรงงานให้มีทักษะที่หลากหลายและพร้อมในการปรับตัวได้ ระบบการจับคู่งานยังมีปัญหาความไม่สอดคล้องในสาขาที่เรียนและในระดับการศึกษา การเปลี่ยนและยกระดับทักษะ (Reskill/Upskill) ยังไม่ทันสมัยและทั่วถึง

ศ.ดร.พิริยะ ยอมรับว่า การขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาทางด้านแรงงาน จำเป็นจะต้องอาศัยการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและวางแผนทรัพยากรมนุษย์

ขณะที่สถาบันการศึกษาควรสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ และภาครัฐบาลควรสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน พร้อมทั้งการใช้มาตรการที่จำเป็นในการส่งเสริมการฝึกอบรมและการจ้างงานด้วย

 

ภาพประกอบข่าวแรงงาน การทำงานของคนไทย

นายดนุชา พิชยนันทน์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เรื่องแรงงาน เป็นเรื่องสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เพราะปัจจุบันโครงสร้างประชากรของไทยกำลังปรับเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในปี 2566 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว นั่นคือ มีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 19.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนแนวโน้มในอนาคตจะมีประชากรวัยแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากการพิจารณาข้อมูลพบว่า ประชากรในวัยแรงงานของไทย จะปรับลดลงจากปี 2566 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 65% จะปรับลดลงไปในปี 2570 อยู่ที่ 61.4% และเมื่อถึงปี 2580 ซึ่งสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี จะมีสัดส่วนของประชากรวัยแรงงานเหลือเพียงแค่ 56.8% เท่านั้น นับว่าเป็นความท้าทายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในอนาคต 

นายดนุชา กล่าวว่า ถ้าพิจารณาถึงข้อจำกัดด้านแรงงานแล้ว นอกจากปัญหาจำนวนแรงงานที่ลดลง ยังพบปัญหาคุณภาพของแรงงานลดลงอีกด้วย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาศักยภาพแรงงานของไทยฟื้นตัวได้ช้ามาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเมื่อมีการระบาดครั้งใหญ่ ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพแรงงานมากขึ้นอีก ประกอบกับในอนาคตยังมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาทักษะของวัยแรงงานตามมาอีกด้วย

 

นายดนุชา พิชยนันทน์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

“สิ่งที่จำเป็นตอนนี้ คือ การพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อเข้ามาทดแทนแรงงานที่หายไปจากสังคมสูงวัยก็เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย เรื่องคุณภาพแรงงานจะเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศในระยะถัดไป”

ดังนั้นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งนั่นคือ การเชื่อมโยงประเด็นการพัฒนาระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนากำลังแรงงานให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน เพื่อเพิ่มระดับผลิตภาพของแรงงานและยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป