พาณิชย์เพิ่มรายได้ร้านโชห่วยนำร่องติดตู้กะปุกสร้างรายได้3-5หมื่นบาท/ปี

15 ก.ย. 2566 | 10:15 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2566 | 10:20 น.

พาณิชย์โชว์เพิ่มรายได้ให้ร้านโชห่วย ด้วยการติดตั้งตู้เติมเงิน กะปุก หลังนำร่องไป 200 ตู้ พบมีรายได้ประมาณ 3-5 หมื่นบาทต่อปี คาดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 10 ล้านบาท

 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมได้เดินหน้าเพิ่มรายได้ให้กับร้านสมาร์ทโชห่วยอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนที่จะร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มต่าง ๆ ในการเข้ามาสนับสนุนร้านค้า ซึ่งความร่วมมือที่กรมมองว่าประสบความสำเร็จโครงการหนึ่ง ที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

คือ การร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AWS นำตู้เติมเงิน กะปุกให้ร้านโชห่วยทั่วไทย ภายใต้แนวคิด ขยายฐานลูกค้าด้วยเทคโนโลยีใกล้บ้านนำร่อง 200 ตู้ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการค้า เพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ และเพิ่มเครื่องมือที่ช่วยในการแข่งขัน ซึ่งล่าสุดได้ส่งมอบให้กับร้านโชห่วยครบแล้ว

พาณิชย์เพิ่มรายได้ร้านโชห่วยนำร่องติดตู้กะปุกสร้างรายได้3-5หมื่นบาท/ปี

 สำหรับตู้กะปุก สามารถให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ วอลเลท (Wallet) บัตรเงินสด บัตรเกม หรือชำระค่าบริการมือถือ ค่าบริการแพกเกจเสริม โดยประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้ที่ร้านสมาร์ทโชห่วยใกล้บ้าน ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่าย ส่วนร้านสมาร์ทโชห่วยก็มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการขายสินค้าอุปโภคบริโภคตามปกติ 

 ทั้งนี้ จากการประเมินการให้บริการตู้กะปุก 1 ตู้ จะมีรายได้ประมาณ 30,000-50,000 บาท ต่อปี โดยรายรับมาจาก 2 ทาง คือ 1.ค่าธรรมเนียมเติมเงิน เช่น เติมเงิน 20 บาท ค่าธรรมเนียม 2 บาท เป็นต้น และ 2.เปอร์เซ็นต์จากยอดเติมเงินที่จะได้รับจากเจ้าของเครือข่ายเติมเงิน ประมาณ 2.7-3%

โดยร้านสมาร์ทโชห่วยที่ติดตั้งตู้กะปุกจะมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 100 บาท เป็นค่าบริหารจัดการรายเดือนซิม โทรศัพท์ 50 บาท และค่าไฟตู้กะปุกประมาณ 50 บาท แต่เมื่อหักลบยอดระหว่างรายรับและรายจ่ายแล้ว ผู้ประกอบการยังคงมีรายรับที่เพิ่มขึ้นจากการให้บริการตู้กะปุก ซึ่งถือเป็นรายได้เสริม โดยคาดว่าทั้ง 200 ตู้ จะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 10 ล้านบาท

 ก่อนหน้านี้ กรมได้เดินหน้าโครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส โดยได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรร่วมกันพัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อย หรือโชห่วยทั่วประเทศให้เป็น สมาร์ทโชห่วยด้วยการเข้าไปเพิ่มพูนความรู้ที่จำเป็นต่อการบริหารธุรกิจ ช่วยปรับภาพลักษณ์ร้านค้า ให้สวย สะอาด สว่าง สะดวก สบาย นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ รวมทั้งช่วยเพิ่มรายได้ เช่น การติดตั้งเติมเงิน ตู้ให้บริการแบบหยอดเหรียญ เป็นต้น