“เศรษฐา” เตรียมถก “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ก๊อกแรกวันละ 400 บาท เร็วที่สุด

12 ก.ย. 2566 | 12:56 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2566 | 13:01 น.

นายกรัฐมนตรี เตรียมถก “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” เป้าแรกวันละ 400 บาท เร็วที่สุด พร้อมหารือคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายแรงงาน ฝ่ายผู้ว่าจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ปรับค่าจ้างให้อยู่ในระดับเหมาะสม

วันนี้ (12 กันยายน 2566) ที่รัฐสภา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า เรื่องค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่หลายพรรคพูดไว้ เพราะทุกคนมีความเป็นห่วง และกังวลประชาชนที่อยู่ชายขอบของสังคมต้องได้รับการดูแล มีรายได้ที่เหมาะสม เพียงพอต่อการใช้จ่ายประจำวัน

ทั้งนี้รัฐบาลจะมีการหารือคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะมีการเจรจาทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายแรงงาน ฝ่ายผู้ว่าจ้าง และฝ่ายรัฐบาล เพื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ในระดับเหมาะสม โดยมีเป้าหมายการปรับขึ้นค่าแรงให้ได้ 400 บาทต่อวัน โดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ นายกฯ ระบุว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นที่โชคดี เพราะเป็นประเทศที่ต้องการของแรงงานมาก โดยมีอัตราการวางงานต่ำกว่า 1% ถือว่าเป็นความโชคดีบนความโชคร้าย เพราะประชากรมีงานทำแต่ความต้องการการของแรงงานก็มีมาก จึงจำเป็นต้องพึงพาแรงงานต่างชาติ ซึ่งจำเป็นต้องดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรี และความปลอดภัย รวมถึงความมั่นคงด้วย

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนเรื่องของการผลักดัน One Stop Service ซึ่งหลาย ๆ รัฐบาลก็ได้ดำเนินการมาแล้ว เป็นสิ่งที่รัฐบาลตระหนักดี หลังจากการลงพื้นที่รับฟังความเห็นด้านการทำประมง ยืนยันว่า จะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ให้ดีและมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ใช้แรงงานทั้งไทยและต่างด้าวด้วย

ขณะที่ปัญหาเรื่องของผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ นั้น นายกฯ ระบุว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อไปเจรจากับภาคเอกชน ยกระดับสวัสดิการแรงงานให้เป็นธรรมมากขึ้น สามารถแข่งขันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“รัฐบาลมองถึงภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และบริการขนส่งต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งได้ลงพื้นที่ได้รับฟังปัญหาแล้ว ทั้งเรื่องค่ารอบที่ไม่เป็นธรรม ค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่ชาร์จกับผู้โดยสารที่ไม่ได้ปรับขึ้นมานาน การบังคับรับงานพ่วง การแบกรับความเสี่ยงเอง กฎหมายแรงงานไม่คุ้มครอง กฎหมายที่ยังล้าสมัยในหลายมิติ” 

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางจัดระเบียบค่าโดยสาร ทั้งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไรเดอร์ แท็กซี่ ให้มีความยุติธรรม และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร และไรเดอร์ด้วย ขณะเดียวกันมีแนวทางให้กระทรวงคมนาคม ทำการศึกษา สร้างแอพพลิเคชันเรียกรถของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ให้ครอบคลุมครบวงจรและทั่วถึงต่อไป