สำนักงบประมาณ ร่อนหนังสือด่วน ตีกรอบใช้งบรอยต่อ รัฐบาลเศรษฐา

11 ก.ย. 2566 | 14:24 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2566 | 14:34 น.

ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ร่อนหนังสือด่วนที่สุด ถึงปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นทุกหน่วยงาน ตีกรอบการใช้งบประมาณพลางไปก่อน 8 เดือน ละเอียดยิบ ช่วยรอยต่อรัฐบาลเศรษฐา

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ถึงปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นทุกหน่วยงาน เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน และวิธีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบไปพลางก่อน 

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ ระบุว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะประกาศใช้บังคับ ไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. /560 มาตรา 141 บัญญัติให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน ซึ่งที่ผ่านมา ได้ผ่านการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีแล้ว

โดยที่ผ่านมา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ให้สัมภาษณ์ว่า นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน เป็นเวลา 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 โดยกำหนดวงเงินที่ส่วนราชการต่าง ๆ จะสามารถใช้จ่ายได้วงเงินไม่เกิน 1.8 ล้านล้านบาท

 

สำนักงบประมาณ ร่อนหนังสือด่วน ตีกรอบใช้งบรอยต่อ รัฐบาลเศรษฐา

หลักเกณฑ์-เงื่อนไขใช้งบไปพลางก่อน

สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน กำหนดรายละเอียด ดังนี้ 

การจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพัน ภายใต้กรอบวงเงินของแผนงานและรายการตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 รวมถึงที่มีการโอนเปลี่ยนแปลง ตามกฎหมาย

ส่วนการอนุมัติเงินจัดสรรงบประมาณ ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพัน ภายใต้กรอบวงเงินของแต่ละแผนงานและรายการตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รวมถึงที่มีการโอนเปลี่ยนแปลงตามกฎหมาย ประกอบด้วย

  • งบประมาณรายจ่ายงบกลาง
  • งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ
  • งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ
  • งบประมาณรายจ่ายบุคลากร
  • งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 
  • งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ

 

สำนักงบประมาณ ร่อนหนังสือด่วน ตีกรอบใช้งบรอยต่อ รัฐบาลเศรษฐา

ขณะที่การบริหารงบประมาณรายจ่าย ให้หน่วยรับงบประมาณจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพัน ภายในวงเงินที่ได้รับจัดสรรตาม หลักเกณฑ์และเงื่อนไขนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เมื่อได้รับความเห็นชอบแผนการปฏิบัติงานและ แผนการใช้จ่ายงบประมาณ และได้รับอนุมัติเงินจัดสรรจากสำนักงบประมาณแล้ว

ส่วนการโอนงบประมาณรายจ่าย การโอนเงินจัดสรรหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรให้กระทำได้เฉพาะกรณีมีความจำเป็น เพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงาน เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ พัฒนาบุคลากร พัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งจะต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นหรือความเหมาะสม 

โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชน ความประหยัด คุ้มค่า โปร่งใส สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายการให้บริการกระทรวง

นอกจากนี้การปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้กระทำได้ เฉพาะกรณีที่จำเป็นเพื่อการปรับปรุงเป้าหมายหรือตัวชี้วัดของแผนงาน ผลผลิต หรือโครงการ หรือกรณีที่ คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแลมีนโยบายใหม่ ซึ่งหน่วยรับงบประมาณ ต้องปรับปรุงเป้าหมายของแผนงาน ผลผลิต หรือโครงการ ให้สอดคล้องกับนโยบาย นั้นด้วย

วิธีปฏิบัติใช้งบไปพลางก่อน

ขณะที่ วิธีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณไปพลางก่อน นั้น สำนักงบประมาณ ได้กำหนดวิธีปฏิบัติในการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ การอนุมัติเงินจัดสรร การบริหารงบประมาณรายจ่าย การติดตามและ ประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณ และการหักงบประมาณรายจ่าย ตามข้อ 6 ของหลักเกณฑ์และเงื่อนไข การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน ดังต่อไปนี้

ด้านการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันในไตรมาสที่ 1-2 ส่วนไตรมาสที่ 3 เฉพาะเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ตุลาคม 2566 - 31 พฤษภาคม 2567) 

เว้นแต่รายจ่ายประจำที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้ผูกพันสิบสองเดือน ให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการ ใช้จ่ายงบประมาณตามที่ต้องดำเนินการจริง โดยจำแนกเป็นรายเดือนส่งให้สำนักงบประมาณ อย่างช้าภายในวันที่ 15 กันยายน 2566

ขณะที่ การจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้หน่วยรับงบประมาณที่ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ตาม พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 ให้จัดทำแผนภายในวงเงินไม่เกินสองในสามของแต่ละแผนงาน และรายการ (งบประมาณรายจ่ายงบกลาง) ตาม พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 รวมถึงที่มีการโอนเปลี่ยนแปลงตามกฎหมาย

สำหรับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ

 

สำนักงบประมาณ ร่อนหนังสือด่วน ตีกรอบใช้งบรอยต่อ รัฐบาลเศรษฐา

 

เงื่อนไขการใช้จ่ายงบประมาณ

การจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ให้หน่วยรับงบประมาณใช้ผลผลิตหรือโครงการเดิมในปีงบประมาณ 2566 แต่อาจปรับปรุงวิธีดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงแนวทางดำเนินการและงบประมาณรายจ่ายที่ขอรับเงินจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ด้วย จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้ 

  1. ไม่จัดทำแผนสำหรับผลผลิตหรือโครงการ ที่สิ้นสุดลงแล้วในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
  2. ไม่จัดทำแผนสำหรับค่าใช้จ่ายที่เป็นการผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานปกติของหน่วยรับงบประมาณที่ต้องดำเนินการภายหลังจากสัญญาเดิมสิ้นสุด ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติราชการ
  3. ค่าใช้จ่ายในแผนงานบุคลากรภาครัฐ ให้พิจารณาตามความจำเป็นได้ในทุกงบรายจ่าย
  4. ค่าใช้จ่ายในแผนงานพื้นฐาน และแผนงานยุทธศาสตร์ ให้พิจารณา ตามความจำเป็นได้ในทุกงบรายจ่าย ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายในลักษณะงบลงทุนปีเดียว ให้พิจารณาความจำเป็น ตามภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หากไม่ดำเนินการจะก่อให้เกิด ความเสียหายต่อการปฏิบัติราชการหรือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ
  5. ค่าใช้จ่ายในแผนงานบูรณาการ ให้จัดทำแผนเท่าที่จำเป็นเพื่อใช้ปฏิบัติงาน ที่ต่อเนื่องจากโครงการ/งาน ที่ดำเนินการไว้แล้ว หรือที่ได้ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันไว้แล้วก่อนปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รวมทั้งภารกิจที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หากไม่ดำเนินการจะก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อการปฏิบัติราชการหรือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ
  6. ค่าใช้จ่ายในแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และงบประมาณรายจ่าย สำหรับทุนหมุนเวียนให้พิจารณาเท่าที่จำเป็น

ทั้งนี้เมื่อหน่วยรับงบประมาณได้รับความเห็นชอบแผนการปฏิบัติงานและ แผนการใช้จ่ายงบประมาณจากสำนักงบประมาณแล้ว ให้แจ้งรัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล หรือควบคุมกิจการของหน่วยรับงบประมาณ หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย แล้วแต่กรณีทราบ เพื่อใช้ในการกำกับดูแลและติดตามการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ

สำหรับงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ให้หน่วยรับงบประมาณแจ้งหน่วยงานเจ้าภาพหลัก เพื่อแจ้งให้ผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการทราบ เพื่อใช้ในการกำกับดูแลและติดตาม การปฏิบัติงานและการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ

การอนุมัติเงินจัดสรรงบประมาณ

เมื่อสำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ แล้ว สำนักงบประมาณจะพิจารณาอนุมัติเงินจัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณตามความจำเป็นและ ภารกิจ ตามแผนงาน ผลผลิตหรือโครงการ เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันตาม แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 โดยหน่วยรับงบประมาณ ไม่ต้องยื่นขอรับอนุมัติเงินจัดสรร

ส่วนการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น แก่หน่วยรับงบประมาณที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ให้เพียงพอต่อการดำเนินการตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยให้คำนึงถึงวงเงินงบประมาณ รายจ่ายแต่ละแผนงานที่เสนอตั้งสำหรับหน่วยรับงบประมาณนั้น ตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567

การบริหารงบประมาณรายจ่าย

ขณะที่การใช้งบประมาณรายจ่ายตามที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร การโอนงบประมาณรายจ่าย การโอนเงินจัดสรร หรือการเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

  • ไม่เป็นการกำาหนดอัตราบุคลากรอัตราใหม่ 
  • ไม่ก่อให้เกิดรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการ บริหารงานปกติของหน่วยรับงบประมาณที่ต้องดำเนินการภายหลังจากสัญญาเดิมสิ้นสุด ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติราชการหรือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ
  • กรณีเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางไปราชการต่างประเทศ ให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณก่อน
  • งบประมาณรายจ่ายในลักษณะงบลงทุนปีเดียว ค่าครุภัณฑ์ที่มีวงเงินต่อหน่วย ต่ำกว่า 1 ล้านบาท และค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่มีวงเงินต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายตามรายการ ที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร 

กรณีหน่วยรับงบประมาณมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรรให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ ได้เฉพาะกรณี ดังนี้

  • มีความจำเป็นต้องจ่ายตามข้อผูกพันสัญญา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล 
  • ต้องดำเนินการตามข้อตกลงที่รัฐบาลทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
  • มีความจำเป็นและเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน