"รสนา" ท้ารัฐบาลเศรษฐา รื้อโครงสร้าง ลดค่าไฟฟ้า ไม่ใช่แค่โปรโมชั่น

10 ก.ย. 2566 | 09:34 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2566 | 09:51 น.
698

"รสนา โตสิตระกูล" ท้ารัฐบาลเศรษฐา รื้อโครงสร้าง ลดค่าไฟฟ้า ไม่ใช่แค่โปรโมชั่นเพิ่มภาระประชาชน แนะปรับเกณฑ์การใช้ก๊าซในอ่าวไทย ทำได้ทันที 2ปี ปลดหนี้ กฟผ. พร้อมเจรจาโรงไฟฟ้า งดเซ็นสัญญาใหม่

หลังจากที่ ครม.เศรษฐา 1 นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศในหลากหลายวาระถึงภารกิจรัฐบาลที่จะทำทันทีว่า คือการลดค่าไฟฟ้า ตรงราคาน้ำมันดีเซล 

ฐานเศรษฐกิจได้สัมภาษณ์พิเศษ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว กทม. ,อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ถึงการดำเนินนโยบายเพื่อลดราคาพลังงานของรัฐบาลเศรษฐา 1 

รสนา มองการลดราคาไฟฟ้าด้วยการยืดหนี้ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ว่าเป็นเพียงโปรโมชั่น เนื่องจากพรรคเพื่อไทยสามารถทำให้มีความยั่งยืนได้มากกว่านี้ ไม่ควรแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีหนี้เพิ่มขึ้น เพราะมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากการยืดหนี้

พร้อมทั้งเสนอวิธีการ ในการแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน ซึ่งจะต้องมีความร่วมมือกัน ระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งจะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ลดค่าไฟฟ้า รัฐบาลเศรษฐา 1

รสนาแสดงความเห็นว่า ในการประชุมครม.นัดแรก รวมถึงการประชุม กพช. นัดแรกนั้น ควรต้องมีมติให้บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปตท. ใช้โพรเพน และบิวเทน ที่ได้จากอ่าวไทย ในราคา Poll gas 

ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเอฟทีปรับลดลงได้ ปีละ 40,000 ล้านบาท เท่ากับลดค่าไฟฟ้าได้ 20 สตางค์ต่อหน่วย แต่หากให้ GC ใช้ก๊าซในราคาตลาดโลก เหมือนกับบริษัทปิโตรเคมีอื่นๆ จะทำให้เราได้ 80,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะสามารถปลดหนี้ กฟผ.ได้ภายใน 2 ปี

เนื่องจากการที่ GC ได้ใช้ก๊าซในอ่าวไทยด้วยราคาในประเทศซึ่งมีราคาถูก ส่งผลให้ปริมาณ Pool gas ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าถูกดึงออกไป และเหลือปริมาณน้อยลง โดย Pool gas ประกอบไปด้วย แหล่งก๊าซ 3 แหล่ง คือ จากอ่าวไทย , พม่า และ LNG นำเข้าซึ่งมีราคาสูง ดังนั้น จึงทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซมีราคาแพง

รสนากล่าวว่า รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่การประชุมครม.นัดแรก และการประชุมกพช. นัดแรก เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลจะไม่ทำ 

นอกจากนี้ยังควรปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ทั้งประเทศให้เกิดความเป็นธรรม ที่ทุกคนได้ประโยชน์เหมือนกัน แต่ไม่เห็นด้วยกับการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้ในระยะยาวรัฐบาลควรส่งเสริมให้ประชาชนติดโซล่ารูฟ โดยมีวิธีการคิดค่าไฟแบบหักลบกลบหน่วย จะทำให้ประชาชนมีแรงจูงใจในการติดโซล่ารูฟมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเจรจากับโรงไฟฟ้าเอกชน เพื่อขอลดค่าเอฟทีลง และไม่ทำสัญญาซื้อไฟกับเอกชนรายใหม่ตลอดระยะเวลา 4ปีนี้

รสนา กล่าวทิ้งท้ายว่า หากสามารถลดราคาพลังงานซึ่งเป็นต้นทุนของการผลิตได้ จะเป็นคุณูปการสำคัญยิ่งกว่าการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เนื่องจากเมื่อต้นทุนการผลิตต่ำลง จะมีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการสามารถขึ้นค่าแรงให้กับลูกจ้างพนักงานได้ ลองตั้งคำถามถึงรัฐบาลในอดีตว่าไม่สามารถลดราคาพลังงานได้เนื่องจากมีกลุ่มทุน พลังงานเป็นผู้สนับสนุนใช่หรือไม่ และนี่จะเป็นโจทย์ในการวัดฝีมือของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่าแตกต่างจากรัฐบาลที่แล้วอย่างไร

สถานการณ์ก๊าซธรรมชาติ

ทั้งนี้ รัฐบาลในอดีต ตั้งแต่ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ก๊าซแอลพีจี เป็นก๊าซหุงต้มแทนถ่าน และกำหนดราคาควบคุมให้กับประชาชน โดยในช่วงแรกกลุ่มผู้ใช้ก๊าซประกอบด้วย ก๊าซหุงต้มในครัวเรือน , ใช้เป็นพลังงานใน ภาคอุตสาหกรรม และ ยานยนต์

ซึ่งกลุ่มครัวเรือนจะได้ใช้ก๊าซในอ่าวไทยก่อน หากเหลือแล้ว กลุ่มอื่นจึงมีสิทธิ์ได้ใช้ สำหรับปิโตรเคมีนั้น เป็นกลุ่มหลังสุด ที่เข้ามาใช้ก๊าซอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

ต่อมาในปี 2551 ยุครัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ มีมติ เปลี่ยนให้ ภาคครัวเรือนและภาคปิโตรเคมีสามารถใช้ก๊าซในอ่าวไทยได้พร้อมกัน เหลือแล้วจึงให้กลุ่มอื่นใช้ นี่จึงเป็นสาเหตุให้ก๊าซในอ่าวไทยซึ่งมีราคาถูก เหลือปริมาณน้อยลงในการนำ ไปใช้ผลิตไฟฟ้า