เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า กกร.หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ2.5-3%

07 ก.ย. 2566 | 16:39 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2566 | 16:45 น.

กกร.ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอ่อนแรง ปรับลดจีดีพีประเทศเหลือ 2.5-3% ต่ำกว่าเป้าเดิมที่3-3.5%และปรับลดตัวเลขส่งออกจากลบ2-0% เป็น-2ถึง-0.5% และเงินเฟ้อเหลือ 1.7-2.2%  ทั้งนี้เห็นด้วยกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยถือเป็นระดับสมดุลแล้ว

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร. ในการประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน  (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย  เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกร.มีมีความเห็นตรงกันว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด โดยกกร.ได้ปรับลดจีดีพีเหลือ 2.5-3.0% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ประเมินไว้ที่3-3.5%(ในเดือนส.ค.) โดยเศรษฐกิจในไตรมาส 2 เติบโตเพียง 1.8% ต่ำกว่าประมาณการที่ 3.1% อย่างมาก  และปรับลดตัวเลขส่งออกจากเดิมลบ2ถึง0% เป็นลบ2ถึงลบ0.5% และปรับลดตัวเลขเงินเฟ้อจากเดิม2.2-2.7% เป็น1.7-2.2%

 

ทั้งนี้ภาคเศรษฐกิจที่อ่อนแรงได้แก่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่มีการหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมา 10 เดือน และติดลบแทบทุกหมวด อีกทั้งการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวต่อเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีแนวโน้มล่าช้า  

นอกจากนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าที่คาดเนื่องจากการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต่ำกว่าปกติอยู่ราว 13% และค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของคนไทยในการเที่ยวในประเทศต่ำกว่าปกติราว 33%

อย่างไรก็ตามรัฐควรมีมาตรการเพื่อเร่งขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังสามารถเติบโตได้ระดับ 3.0% การเร่งรัดมาตรการด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ประกาศไว้จึงมีความจำเป็น ได้แก่ การลดภาระรายจ่ายค่าไฟและราคาน้ำมัน การผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณามาตรการเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตได้ ขณะที่เร่งจัดทำมาตรการเพื่อเสริมสร้างรายได้ ให้กับ SMEs และครัวเรือนเพื่อแก้ปัญหาภาระหนี้ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน

ทั้งนี้ประชุม กกร. มีความเห็นว่าด้วยดอกเบี้ยในปัจจุบันปรับขึ้นมาต่อเนื่องและอยู่ที่ระดับ2.25% ซึ่งเป็นระดับสมดุลแล้ว เนื่องจาก อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องทำให้แรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ และสถาบันการเงินได้ชะลอการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ อีกทั้งกลไกตลาดเงินได้ปรับตัวแล้ว สะท้อนจากการแข่งขันในการระดมสภาพคล่องที่เข้มข้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้นส่วนหนึ่งจากเงินถูกไหลไปสู่การลงทุนทางเลือก