“Let’s Zero Together” เพิ่มพื้นที่สีเขียวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

04 ก.ย. 2566 | 12:03 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2566 | 12:12 น.

“Let’s Zero Together” เพิ่มพื้นที่สีเขียวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน : คอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ โดย... รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3919

สวัสดีครับท่านผู้อ่านคอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ เดือนนี้อยากชวนทุกท่านคุยกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เห็นได้ชัดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งส่งผลให้อุณภูมิสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว ขณะที่ฝนจะลดลงและเกิดความแห้งแล้ง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำเกษตรกรรม และยังกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคส่วนอื่นๆ 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ใกล้ชิดทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน และ ชุมชน เราตระหนักถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มอากาศบริสุทธิ์คืนสู่สังคม 

 

รวมถึงการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้เท่ากับศูนย์ หรือ Net Zero Emission ในปี พ.ศ.2608

โดยกิจกรรมสำคัญที่ กนอ. ดำเนินต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 คือ “กิจกรรมปลูก เพื่อ ลด สู่อนาคตที่ยั่งยืน Let’s Zero Together” ปลูกป่าเพื่อพัฒนาพื้นที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ในปี 2566 กนอ. ได้จัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน โดยดำเนินการปลูกต้นโกงกาง และต้นแสมขาว จำนวน 10,000 ต้น เป็นพื้นที่จำนวน 10 ไร่ ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประมาณ 600 คน ประกอบด้วย พันธมิตรของ กนอ. ได้แก่ ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู ผู้ส่งมอบ หน่วยงานราชการท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรปราการ ชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมบางปู สื่อมวลชน ผู้บริหาร และพนักงาน กนอ. ซึ่

การปลูกป่าในครั้งนี้ จะสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 27.5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี รวมถึงการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในด้านระบบนิเวศ ด้านชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิต และยังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของสัตว์ทะเลให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ณ สถานตากอากาศบางปูแล้ว กนอ. ยังร่วมกับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น ที่ร่วมปลูกต้นไม้กว่า 14,000 ต้น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมของอมตะ คอร์ปอเรชั่น 1,600 ต้น กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง 600 ต้น 

กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด คอมเพล็กซ์ 4,700 ต้น นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ 400 ต้น นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ 150 ต้น นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี 150 ต้น นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร 150 ต้น นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง 125 ต้น นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 150 ต้น นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง 99 ต้น นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ 600 ต้น นิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี 600 ต้น และนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค 300 ต้น 

ทั้งนี้ กิจกรรมปลูกต้นไม้พร้อมกันทั่วประเทศในครั้งนี้ สามารถปลูกต้นไม้ได้รวมกว่า 33,874 ต้น คิดเป็นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สามารถดูดซับได้ถึง 315 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

                            “Let’s Zero Together” เพิ่มพื้นที่สีเขียวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

นอกจากกิจกรรมปลูกป่า ในปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา กนอ. สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จาก 4 กิจกรรมหลัก คือ

1.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ ภายในระบบสาธารณูปโภคของ กนอ.

2.การจัดกิจกรรมภายใต้โครงการเครือข่ายก๊าซเรือนกระจก มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 110 โรงงาน

3.การใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรม Smart Park

และ 4. กิจกรรมปลูกป่า ปลูก เพื่อ ลด สู่อนาคตที่ยั่งยืน Let’s Zero Together ณ นิคมอุตสาหกรรม Smart Park 

กิจกรรมปลูกป่าถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้มีความสมดุลกับการดูดซับ หรือ ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้เท่ากับศูนย์ และยังสะท้อนภาพลักษณ์ด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ของ กนอ.อย่างชัดเจน ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ของนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 

เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์โดยการปลูกต้นไม้ หรือในอนาคตอาจจะมีการใช้เทคโนโลยีในการดูดคาร์บอน ที่ดักจับและกักเก็บโดยตรง เป็นต้น ซึ่งหากเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกินได้ เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน

กนอ. มีเป้าหมายหลักในการมุ่งสู่ความเป็นการทางคาร์บอนให้ได้ตามเป้าหมาย โดยการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายของเรา ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในทุกรูปแบบ เพื่อสร้างสังคมที่มีความสมดุลและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันครับ