“สมาร์ทปาร์ค”นิคมฯ ต้นแบบสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

02 ส.ค. 2566 | 14:04 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2566 | 14:10 น.

“สมาร์ทปาร์ค”นิคมฯ ต้นแบบสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน : คอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ โดย...รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3910

“สมาร์ทปาร์ค” นิคมฯ ต้นแบบสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
สวัสดีครับท่านผู้อ่านคอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ ขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในช่วงรอยต่อของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นักลงทุนบางคนก็อาจจะมีความเป็นห่วงกังวลเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอยู่บ้าง

อย่างไรก็ดี ในการลงทุนเมกะโปรเจ็คท์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยังคงมีความรุดหน้าอย่างต่อเนื่อง

โดยขณะนี้โครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC ที่เรากำลังดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 และโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค จ.ระยอง มีความคืบหน้าตามแผนงาน

โดยเฉพาะโครงการที่มุ่งตอบโจทย์สังคมโลกและความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมอย่างนิคมฯ สมาร์ทปาร์ค ที่จะมีส่วนสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593  

ช่วงเริ่มการก่อสร้างโครงการนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2565 ท่านนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานคณะกรรมการ กนอ. และผม ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในการก่อสร้างนิคมฯ สมาร์ทปาร์ค โดยการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนปูนปอร์ตแลนด์จำนวนประมาณ 120,000 ลบ.ม. เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะก่อสร้างได้ถึง 2 ล้าน kgCO2e 

และเมื่อนิคมสมาร์ทปาร์คเปิดดำเนินงาน ทาง กนอ. ได้วางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งคาดว่าจะลดการปลดปล่อย CO2 ได้ 70% เมื่อเทียบกับการจัดการพลังงานในนิคมฯ ที่พัฒนาบนพื้นฐานเดิม
ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

ผม ทีมผู้บริหาร และพนักงาน กนอ. ได้มีโอกาสนำ ท่านณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างนิคมฯ สมาร์ทปาร์ค ซึ่งขณะนี้มีความความคืบหน้าอยู่ที่ 62.72% โดยได้เร่งดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงาน งานภูมิทัศน์และรั้ว งานระบบผลิตน้ำประปา 

งานระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย งานระบบบำบัดน้ำเสีย งานระบบไฟฟ้าแสงสว่างและตู้ควบคุม งานวางสายเคเบิลและระบบสื่อสาร งานระบบสมาร์ทภายในสำนักงาน งานปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างโครงการฯ งานระบบถนน ระบบระบายน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วม งานระบบจ่ายท่อน้ำประปา และระบบดับเพลิง 

ผลจากการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำว่า นิคมฯ สมาร์ทปาร์ค จะสามารถเปิดให้บริการตามแผน คือ ภายในปี 2567 แน่นอนครับ

ทั้งนี้ นิคมฯ สมาร์ท ปาร์ค ก่อสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล สำหรับรองรับการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical Device)

ปัจจุบันมีนักลงทุนแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนแล้ว ทั้งกลุ่มนักลงทุนที่เป็นลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยา เป็นต้น 

                               “สมาร์ทปาร์ค”นิคมฯ ต้นแบบสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

นิคมฯ สมาร์ทปาร์ค นั้น มีแนวคิดหลัก คือ การเป็นนิคมฯ ต้นแบบที่ทันสมัย ทั้งด้านเทคโนโลยี ระบบสื่อสาร ระบบขนส่ง การจัดการพลังงาน และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยแบ่งพื้นที่เป็นคลัสเตอร์แยกตามลักษณะกลุ่มอุตสาหกรรม มีระบบรักษาความปลอดภัยและพื้นที่สีเขียวโดยรอบแต่ละคลัสเตอร์ 

ในโครงการนี้ กนอ.ได้วางแผนที่จะทำระบบ micro grid เพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดของเราเองอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการนำระบบไฟฟ้าและสาธารณูปโภคลงดินเพื่อทัศนียภาพและความปลอดภัย 

นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมพื้นที่พาณิชยกรรมเพื่อเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของภูมิภาค

ผมเชื่อมั่นว่า โครงการก่อสร้างนิคมฯ สมาร์ทปาร์ค ตอบโจทย์ประชาชนและนักลงทุนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ที่เรามุ่งสร้างโอกาสทางการลงทุนเพื่อดึงดูดผู้ประกอบการจากทั่วโลก มิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่เรามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตลอดจนมิติด้านสังคม ที่จะส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ให้นิคมอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชนโดยรอบได้อย่างยั่งยืน 

โดยทางกนอ.คาดการณ์ว่า ภายหลังจากเปิดดำเนินงาน นิคมฯ สมาร์ทปาร์คจะก่อให้เกิดการจ้างงาน 7,459 คน และเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1,342 ล้านบาทต่อปี