เช็คข้อมูล “ค่าบำบัดน้ำเสีย” หลัง กทม. ประกาศเก็บค่าธรรมเนียม

31 ส.ค. 2566 | 06:44 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2566 | 11:30 น.
1.0 k

เช็คข้อมูล “ค่าบำบัดน้ำเสีย” หลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศเตรียมเก็บค่าธรรมเนียม โดยตอนนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนถึงร่างระเบียบและประกาศทั้งหมด ตรวจสอบรายละเอียดได้ที่นี่

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนถึงร่างระเบียบและประกาศ กทม. ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บค่าธรรมเนียม “ค่าบำบัดน้ำเสีย" หลัง กทม. ได้มีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2547 เป็นเวลากว่า 19 ปีจนถึงปัจจุบัน 

แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการออกระเบียบหรือประกาศกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย จึงทำให้ยังไม่มีการเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำบัดน้ำเสีย ทำให้ในปัจจุบัน กทม. มีการใช้งบประมาณในการดำเนินการโรงบำบัดน้ำเสียไม่น้อยกว่าปีละ 600 ล้านบาท 

ดังนั้น การเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียจะช่วยให้มีการลดรายจ่ายในการดำเนินการโรงบำบัดนำเสีย อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลักการ Polluter Pay Principle หรือหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการจัดการมลพิษของเมืองและลดปริมาณของมลพิษที่เกิดขึ้นในเมืองด้วย 

 

ภาพประกอบข่าว การเก็บค่าธรรมเนียม “ค่าบำบัดน้ำเสีย" กทม.

ประเภทของแหล่งกำเนิดน้ำเสีย

การเก็บค่าธรรมเนียม “ค่าบำบัดน้ำเสีย” จากแหล่งกำเนิดน้ำเสีย มี 3 ประเภท ดังนี้

1. แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 2 มีลักษณะ คือ

  • (ก) บ้านเรือนที่พักอาศัย รวมถึงอาคารซึ่งโดยปกติบุคคลใช้อยู่อาศัยได้ ทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นการอยู่อาศัยอย่างถาวร หรือชั่วคราว
  • (ข) อาคารประเภทอาคารชุด คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ หอพัก รวมทั้งอาคารที่อยู่อาศัยรวม

2. แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 2 มีลักษณะ คือ

  • (ก) หน่วยงานของรัฐหรืออาคารที่ทำการของเอกชนหรือองค์กรระหว่างประเทศ 
  • (ข) มูลนิธิ ศาสนสถาน สถานสาธารณกุศล
  • (ค) โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล
  • (ง) โรงเรียนหรือสถานศึกษา
  • (จ) สถานประกอบการ ที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีก่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน หากกรณีที่ประกอบการไม่ถึง 1 ปี ให้ใช้ค่าเฉลี่ยตามระยะเวลาที่ประกอบการ
  • (ฉ) สถานที่ที่ใช้ประโยชน์ในลักษณะคล้ายคลึงกันกับ (ก) ถึง (ง)

3. แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 3 มีลักษณะ คือ

  • (ก) โรงแรม
  • (ข) โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
  • (ค) สถานประกอบการ ที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีก่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียม บำบัดน้ำเสียเกินกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน หากกรณีที่ประกอบการไม่ถึง 1 ปี ให้ใช้ค่าเฉลี่ยตามระยะเวลาที่ประกอบการ
  • (ง) สถานที่ที่ใช้ประโยชน์ในลักษณะคล้ายคลึงกันกับ (ก) และ (ข)

 

ภาพประกอบข่าว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)

เริ่มเก็บ “ค่าบำบัดน้ำเสีย” 2 กลุ่ม

สาระสำคัญของร่างระเบียบและประกาศของกรุงเทพมหานครนี้ คือการเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียแก่ 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 ได้แก่ แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 2 (ก) คือ หน่วยงานรัฐหรืออาคารที่ทำการของเอกชนหรือองค์กรระหว่างประเทศ และแหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 2 (จ) ประกอบด้วย สถานประกอบการ ที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี มีการใช้น้ำไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน 

กลุ่มที่ 2 ได้แก่ แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 3 ประกอบด้วย โรงแรม โรงงาน และสถานประกอบการที่มีการใช้น้ำย้อนหลังเฉลี่ยมากกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตร 

อัตราค่าธรรมเนียม “ค่าบำบัดน้ำเสีย”

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียนั้น จะแบ่งตามประเภทแหล่งกำเนิดน้ำเสีย ดังนี้

  • แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 2 จะมีอัตราค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียที่ 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร
  • แหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทที่ 3 จะมีค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียที่ 8 บาทต่อลูกบาศก์เมตร 

โดยคำนวณหาปริมาณน้ำเสียจาก 80% ของปริมาณน้ำประปาหรือน้ำจากแหล่งน้ำอื่น นอกจากนี้การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียยังไม่ได้มีการจัดเก็บในทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร โดยจะมีการจัดเก็บเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ในระยะการให้บริการของโรงบำบัดน้ำเสียเท่านั้น 

 

อัตราค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียนั้น จะแบ่งตามประเภทแหล่งกำเนิดน้ำเสีย กทม.

 

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า กทม. ไม่ได้โยนภาระค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียแก่ประชาชน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนกรุงเทพมหานครทุกคนต่างร่วมรับภาระในการบำบัดน้ำเสียเท่าเทียมกัน ซึ่งหากค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียนี้สามารถจัดเก็บได้สำเร็จผู้ก่อให้เกิดน้ำเสียจะมีส่วนร่วมในการรับภาระในการบำบัดน้ำเสียมากยิ่งขึ้นนั้นเอง 

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ไม่มีการบังคับจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียแก่ภาคครัวเรือน จะมีเพียงแต่กรณีภาคครัวเรือนสมัครใจเชื่อมต่อท่อสู่โรงบำบัดน้ำเสียเท่านั้น

สำหรับร่างระเบียบกรุงเทพมหานครและร่างประกาศกรุงเทพมหานคร ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 ฉบับ ประกอบด้วย

1. ร่างระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการขอรับบริการบำบัดน้ำเสีย การระบายน้ำเสียลงสู่ระบบรวบรวมน้ำเสีย และการระงับการให้บริการบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. ....

2. ร่างระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียสำหรับแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียจนได้น้ำทิ้ง พ.ศ. ....

3. ร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร

4. ร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่ที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียต้องชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย

5. ร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง วิธีคำนวณปริมาณน้ำที่ใช้ในแหล่งกำเนิด   น้ำเสียที่ไม่อาจใช้เครื่องอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำที่ใช้ได้

6. ร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง แนวทางการติดตั้งอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่ใช้น้ำประปา

7. ร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดสถานที่รับชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร

สำหรับผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติ่มสามารถติดตาม และร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างระเบียบและประกาศ กทม. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 ฉบับ ได้ที่นี่