เศรษฐกิจไทย 2566 อาการหนัก ไตรมาส 2 ทรุด ครึ่งปีหลังสาหัส

20 ส.ค. 2566 | 14:30 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2566 | 14:37 น.
762

เศรษฐกิจไทย 2566 อาการหนัก สารพันมรสุมรุมกระหน่ำ ทั้งในและนอก ประเมิน GDP ไตรมาสที่ 2 ทรุด ฉุดตัวเลขครึ่งปี และทั้งปีไม่ถึงเป้ามาย จับตา สศช. แถลงตัวเลข 21 สิงหาคม นี้ จ่อปรับลดประมาณการลงอีก

อาการหนักชัดเจนสำหรับ “เศรษฐกิจไทย” ในปี 2566 หลังผจญสารพันมรสุมรุมกระหน่ำ ทั้งในและนอก จนทำให้หลายหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจยกมือขึ้นปาดเหงื่อ เตรียมปรับลดประมาณการขยายตัวของ GDP ทั้งปีลงจากเดิม หลังเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวที่ออกมาไม่ค่อยโสภาสักเท่าไหร่

ฐานเศรษฐกิจ มีโอกาสคุยกับแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า มีอาการน่าเป็นห่วง โดยมีความเป็นไปได้ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2566 จะขยายตัวต่ำกว่า ไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งขยายตัว 2.7% นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีโตไม่ถึง 2.5% และแน่นอนว่า เป้าหมายที่ตั้งเอาไว่วาปีนี้อยากจะเห็นเลข 3 อาจเลือนราง หรือถ้าจะทำให้ได้ก็ต้องดันกันสุดพลัง

“สัญญาณที่เกิดขึ้น และเครื่องชี้ต่าง ๆ ก็พอประเมินได้ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 โตเต็มที่ไม่น่าจะเกิน 2% และเมื่อเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาสแล้ว น่าจะโตเล็กน้อยระดับ 0.1-02% หรือไม่ขยายตัวเลยก็ได้ และจะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะโตไม่ถึง 2.5% ถ้าเป็นแบบนี้จริง ก็ถือว่า น่าตกใจไม่น้อย โดยมีสาเหตุสำคัญจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว”

 

ภาพประกอบข่าว GDP เศรษฐกิจไทย 2566

ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง อาการสาหัส และเป็นช่วงที่ท้าทายมากที่สุดสำหรับเศรษฐกิจไทย เพราะนอกจากจะเจอปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีปัญหาแล้ว เศรษฐกิจไทยยังเจอผลกระทบจากการเมืองภายในประเทศอีกเด้ง เพราะการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ล่าช้าส่งผลต่อการจัดทำงบประมาณ การใช้จ่ายงบประมาณ และการใช้จ่ายงบลงทุน

โดยเมื่อมองไปยังเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลัก 4 ตัว คือ การบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออก จะพบว่า ทุกเครื่องยนต์เกิดปัญหาทั้งหมด โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุน นั่นเพราะการใช้จ่ายงบประมารถูกแช่แข็งเอาไว้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 4 เนื่องจากรัฐบาลรักษาการไม่สามารถผ่านโครงการอะไรออกมาได้ 

ขณะที่การตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า ก็ส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ทั้งงบประมาณปี 2567 และงบประมาณปี 2568 ต้องล่าช้าออกจากปฏิทินงบประมาณไปอย่างน้อยก็ 6 เดือนด้วยกัน โดยในช่วงแรกของการยังไม่มีรัฐบาลใหม่ สำนักงบประมาณ ได้จัดทำหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณของปี 2566 ไปพลางก่อน ซึ่งก็ใช้ได้เพียงแค่งบประจำเท่านั้น

 

ภาพประกอบข่าว การประเมินเศรษฐกิจไทย 2566

ส่วนเครื่องยนต์ด้านการส่งออก แน่นอนว่าแทบจะดับสนิท ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ประกาศตัวเลขการส่งออกไทยในเดือนมิถุนายน 2566 ยังคงติดลบต่อเนื่อง โดย ติดลบ 6.4 % ขณะที่การนำเข้า ติดลบ10.3 % ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรก ส่งออกไทยติดลบแล้ว 5.4% แม้เป้าหมายทั้งปี กระทรวงพาณิชย์ ยังคงยืนเป้าไว้ที่ 1-2% แต่เมื่อดูจากสถานการณ์รอบบ้านแล้ว นับเป็นโจทย์หินท้าทายความสามารถสุด ๆ หากจะทำให้ได้ถึงเป้าที่วางเอาไว้

“การส่งออก จะยังคงอยู่ในอาหารแย่เหมือนเดิม เพราะไปดูประเทศคู่ค้าหลักของไทยทั้ง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีแล้ว เชื่อว่ายังคงมีปัญหาหนัก โดยเฉพาะตัวเลขการนำเข้าสินค้าของประเทศเหล่านี้เริ่มหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้การส่งออกของไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่อีกมาก”

ด้านการนำเข้า อยากให้โฟกัสไปที่สินค้าทุน แม้ว่าตัวเลขรถยนต์ ซึ่งครองสัดส่วนสูงสุดประมาณ 30% อาจจะบวก รวมไปถึงเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) แต่สินค้าทุนตัวอื่น ๆ ยังคงน่าเป็นห่วง โดยตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุนในรูปดอลลาร์สหรัฐ เดือนมิถุนายน 2566 ติดลบ 1.9% ซึ่งถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบถึงการส่งออกอย่างหนักแน่นอน 

 

ภาพประกอบข่าว สมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจ 2566

 

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวบ้าง เดิมหลายหน่วยงานฝากความหวังไว้ที่การท่องเที่ยวจะเป็น “พระเอก” ประคองเศรษฐกิจไทยทั้งปีให้รอดไปได้ แต่ปัจจุบันความหวังนี้ไม่ได้ถูกโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดิม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า ทั้งปีจะมีเข้ามา 28 ล้านคน อาจหลุดเป้า โดยไส้ในคือนักท่องเที่ยวจีน อาจมาไม่ถึงเป้าหมาย เพราะจีนมีปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ

นั่นจึงทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ ได้รับผลกระทบ โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ตลอดทั้งปี 2566 อาจลดลงอย่างน้อย 2 ล้านคนจากเป้าหมายเดิม ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปอย่างน้อย 1 แสนล้านบาท

ส่วนด้านการบริโภค ด้วยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันที่ยังคงอยู่ในอัตราสูง โดยจากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยล่าสุด พบว่า ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สินโดยเฉลี่ยครอบครัวละ 5.59 แสนบาท สูงสุดในรอบ 15 ปี และมีจำนวนถึง 54% ที่มีหนี้สินสูงกว่ารายได้ โดยพบว่าเป็นหนี้นอกระบบสูงถึง 19.8% ของหนี้ทั้งหมด ปัญหาดังกล่าว น่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย และการบริโภคในประเทศไปอีกนาน

อย่างไรก็ตามตัวเลขจริงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องติดตามการแถลงตัวเลข GDP ของไทย จาก สศช. ซึ่งจะแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 สิงหาคม นี้ ดีไม่ดีเห็นตัวเลขออกมาแล้วอาจจะ “ช็อก” ว่าทั้งปีจะหั่นเป้าลงจากเดิม 2.7-3.7% ลงมากแค่ไหน ที่สำคัญ...น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่รอท้าฝีมือรัฐบาลใหม่ เตรียมตัวเตรียมใจรับมือแน่นอน