ดราม่าภาษีที่ดินสวนยาง “กูรู”ชี้อย่ากังวล รัฐเร่งแก้ไข กระทบแค่รายใหญ่

17 ส.ค. 2566 | 12:44 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2566 | 13:16 น.
627

กรณี ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 31 มกราคม 2566 โดยมีอัตราขั้นต่ำของการประกอบเกษตรกรรมต่อไร่

โดยในบัญชีแนบท้าย ก.ของประกาศฯ กำหนดให้การปลูกยางพารามีอัตราขั้นต่ำ 80 ต้นต่อไร่ ซึ่งขัดแย้งกับพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่ได้กำหนดคำจำกัดความว่า "สวนยาง" โดยเฉลี่ยต้องปลูกยางไม่น้อยกว่าไร่ละ   25 ต้น

นายสุนทร  รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก(17 ส.ค. 2566) ว่า ขณะนี้ประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจในวงกว้าง และสร้างความตื่นตระหนกให้กับเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ทั้งนี้เพราะการปลูกยางพาราส่วนใหญ่มีระยะการปลูก 3 × 7 เมตร หรือเท่ากับ 76 ต้นต่อไร่ หรือกรณีปลูกแบบสวนอย่างยั่งยืน จะมีต้นยางไม่เกิน 60 ต้นต่อไร่ โดยทั้ง 2 แบบการปลูกยางก็น้อยกว่า 80 ต้นต่อไร่อยู่ดี

สุนทร  รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย

สำหรับข้อเท็จจริง พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เป็นภาษีที่ดินใหม่ มาแทนที่การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ รวมถึงภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อปรับปรุงระบบภาษีเดิม และกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้น

โดยมาตรา 37 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างให้จัดเก็บภาษีตามอัตราดังต่อไปนี้

1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.15

2.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.3 

3.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นนอกจาก (1) หรือ (2) ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 1.2  

4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 1.2  (แต่จะปรับเพิ่มอัตรา 0.3 % ทุกสามปีในอัตรารวมไม่เกิน 3%)

 

สรุปคือ ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมมีเพดานภาษีสูงสุด 0.15%

ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เพดานภาษีสูงสุด 0.30%

ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม เพดานภาษีสูงสุด 1.20%

ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพดานภาษีสูงสุด 3.00%

ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. 2564 กำหนดให้ใช้มูลค่าที่ดินเป็นการกำหนดอัตราภาษี เช่น ภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมูลค่าที่ดิน 0-75 ล้านบาท มีอัตราภาษี 0.01%

  • มาตรา 40

ในกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมอยู่ภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น รวมกันในการคำนวณภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท

สรุป หากมีที่ดินทำการเกษตรมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทจะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดิน

ดราม่าภาษีที่ดินสวนยาง “กูรู”ชี้อย่ากังวล รัฐเร่งแก้ไข กระทบแค่รายใหญ่

ดังนั้นจากข้อเท็จจริงข้างต้นสรุปได้ว่า กรณีสวนยางพารา ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย การถือครองถัวเฉลี่ยไม่เกิน 12 ไร่ต่อราย สมมติสวนยางมีมูลค่าไร่ละ 2 แสนบาท รวม 12 ไร่ มูลค่าประมาณ 2.4 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าน้อยกว่า 50 ล้านบาท จึงได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. 2562 แต่ผู้ได้รับผลกระทบน่าจะเป็นเกษตรกรชาวสวนยางรายใหญ่ที่มีสวนยางรวมมูลค่าเกินกว่า 50 ล้านบาท

นายสุนทร ยังมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.ประเด็นความผิดพลาดการกำหนดอัตราขั้นต่ำการปลูกยางพารา 80 ต้นต่อไร่ ตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย  ต้องได้รับการดำเนินการแก้ไข เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2558 นั่นคืออัตราขั้นต่ำการปลูกยางพารา 25 ต้นต่อไร่ อันป็นการป้องกันเพื่อไม่ให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อน จากการจ่ายภาษีที่ดินตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ กรณี ทำเกษตรกรรมไม่เต็มพื้นที่  เลวร้ายที่สุด หากมีการตีความว่า การปลูกยางน้อยกว่า 80 ต้นต่อไร่ ไม่ใช่การใช้ที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบเกษตรกรรม ยุ่งตาย

"ดังนั้นจึงเรียนพี่น้องชาวสวนยางทั่วประเทศว่าไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจ หรือกังวลใจจนมากเกินไป กรณีการจ่ายภาษีที่ดินสวนยาง ซึ่งประเด็นอัตราขั้นต่ำจำนวนต้นยางพาราต่อไร่ ขณะนี้ทราบว่าการยางแห่งประเทศไทย และกระทรวงที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา อย่างเร่งด่วน"

2.กรณีเป็นที่ดินของรัฐ เช่น สปก.หรือที่ดินได้มาซึ่งสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐตามกฎหมาย เช่น แปลงรวม คทช.จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ถ้ามูลค่า 0-75 ล้านบาท ต้องจ่ายภาษีที่ดินในอัตรา 0.01% หรือประมาณไร่ละ 100 บาท

กรณีนี้ เป็นความเหลื่อมล้ำที่รัฐบาลต้องแก้ไข เพื่อให้เกษตรกรที่อยู่ในที่ดินของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจนหรือผู้ไร้ที่ทำกินมาก่อน ได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีที่ดิน เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาที่ถือครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ที่ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินตามมาตรา 40

อย่างไรก็ดีมีข้อกังวลว่า ถ้าตามประกาศของกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย) กำหนดต้องปลูกยางไม่น้อยกว่า 80 ต้นต่อไร่ จึงจะเป็นการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม(ปัจจุบันการปลูกยาง ส่วนใหญ่ 76 ต้นต่อไร่ และ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย กำหนดให้สวนยางอย่างน้อยต้องมีต้นยางเฉลี่ย 25 ต้นต่อไร่) สรุปคือ อาจไม่ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดิน ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562

“ผมมองว่ากังวลเกินเหตุ เพราะหากการทำสวนยางพาราน้อยกว่า 80 ต้นต่อไร่ มิใช่เป็นการทำเกษตรกรรม (หรือง่าย ๆ การทำสวนยางไม่ใช่เกษตรกรรรม) ก็เป็นตลกเศร้าของกะลาแลนด์ ในขณะที่มีการเลี้ยวโค้งเลี่ยงภาษีแพง เพราะไม่ให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า กรณีปลูกมะนาว กล้วย มะพร้าว ในที่ดินเขตเมืองใหญ่ เพื่อให้เป็นการทำเกษตรกรรม ตรรกวิบัติ ถ้าเป็นจริง จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว แค่ราคายางตกต่ำชาวสวนยางก็ลำบากมากพอแล้ว” นายสุนทร กล่าว