เปิดร่างกฎหมาย สคบ. คุม เครื่องราง ของขลัง ห้ามโฆษณาร่ำรวย-โชคดี

17 ส.ค. 2566 | 06:02 น.
681

เปิดร่างกฎหมาย สคบ. ควบคุมการโฆษณาขายเครื่องราง ของขลัง และการให้บริการ ผ่านสื่อต่าง ๆ หลังพบโฆษณาแพร่หลาย ใช้ข้อความที่ยากต่อการพิสูจน์ อวดอ้างสรรพคุณที่เกินจริง ทั้งโชคดี ร่ำรวย รักษาโรค

จากกรณี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมออกกฎหมายฉบับรองเป็นร่างกฎกระทรวง เพื่อนำมาใช้ควบคุมการโฆษณาขาย เครื่องราง ของขลัง หรือให้บริการ ผ่านสื่อต่าง ๆ หลังพบมีการโฆษณาอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่มักใช้ข้อความที่ยากต่อการพิสูจน์ อวดอ้างสรรพคุณที่เกินจริง เช่น เสริมโชคลาภบารมี หรือทำให้หายจากการเจ็บปวด จนทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและได้รับความเสียหายหรืออันตรายจากการใช้สินค้าหรือบริการดังกล่าว 

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันหรือระงับยับยั้งไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบหรืออาจเกิดอันตรายกับผู้บริโภค ที่เกิดจากการใช้สินค้าหรือบริการจากการโฆษณาขายเครื่องราง ของขลัง หรือให้บริการ สคบ.จึง ยกร่างกฎมายเข้ามาควบคุมการโฆษณาขายเครื่องราง ของขลัง ขึ้น

 

ภาพประกอบข่าว สคบ. ควบคุมการโฆษณาขายเครื่องราง ของขลัง

ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบข้อมูลของร่างกฎหมายฉบับดังล่าว ของสคบ. ซึ่งออกเป็น ร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อความโฆษณาเครื่องราง ของขลัง หรือบริการ ที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม พ.ศ. .... มีเนื้อหาดังนี้

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 และมาตรา 22 วรรคสอง (5) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ 

โดยในกฎกระทรวงนี้ ได้กำหนดคำนิยามของ เครื่องราง ของขลัง หรือบริการ ประกอบด้วย

“เครื่องราง” หมายความว่า สิ่งของหรือวัตถุที่โฆษณาว่าเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันอันตราย หรือทำให้รอดปลอดภัย

“ของขลัง” หมายความว่า สิ่งของหรือวัตถุที่โฆษณาว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มีพลังหรือ มีอำนาจ บันดาลให้สำเร็จผลดังประสงค์

“บริการ” หมายความว่า การรับจัดทำการงาน หรือกระทำการใด ๆ โดยเรียกค่าตอบแทน ๆ เป็นเงินหรือผลประโยชน์อื่น ที่โฆษณาว่าทำเพื่อคุ้มครองป้องกันอันตราย หรือทำให้รอดปลอดภัย หรือ ทำเพื่อให้มีความศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้สำเร็จผลดังประสงค์

พร้อมกันนี้ยังกำหนดให้ข้อความตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ เป็นข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการ ที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม ตามมาตรา 22 วรรคสอง (5)

รวมทั้งข้อความโฆษณาเครื่องราง ของขลัง หรือบริการ ที่เชิญชวนหรือชักจูงให้ผู้บริโภค ซื้อเครื่องราง ของขลัง หรือรับบริการ โดยอาศัยความเชื่อหรือศรัทธาส่วนบุคคลของผู้บริโภคซึ่งไม่สามารถ พิสูจน์ได้ด้วยหลักเหตุผลหรือกระบวนการพิสูจน์ที่เป็นที่ยอมรับ ดังต่อไปนี้

  • ข้อความที่สื่อสารในลักษณะทำนองว่าสามารถป้องกันหรือบรรเทาอันตราย หรือทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้
  • ข้อความที่สื่อสารในลักษณะทำนองว่าทำให้ได้มาซึ่งคนรักของรัก หรือทำให้เกิดผลร้ายต่อบุคคลอื่นฝ่ายเดียวหรือทำให้เกิดผลดีแก่ตนเองฝ่ายเดียว หรือทำให้สามีหรือภรรยาหรือคนรักกลับมาคืนดีกัน
  • ข้อความที่สื่อสารในลักษณะทำนองว่าทำให้มีโชคลาภจากการพนัน หรือสามารถทำให้ หลุดพ้นจากความยากจนหรือทำให้เกิดความร่ำรวยหรือความโชคดี

ทั้งนี้ให้กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

แหล่งข่าวจาก สคบ. ระบุว่า การจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2566 และในขั้นตอนต่อจากนี้ จะนำความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปพิจารณา ปรับปรุง และแก้ไขให้ร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเกิดความเหมาะสมต่อไป