“บางกอกเจมส์” ใหญ่ที่สุดในไทยและเก่าแก่ที่สุดในเอเชีย

08 ส.ค. 2566 | 17:44 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2566 | 12:35 น.

“บางกอกเจมส์” ครั้งที่ 68 เครื่องยนต์หลักดันส่งออกไทย ก.ย.นี้ ใหญ่ที่สุดในไทยและเก่าแก่ที่สุดในเอเชีย คาดเงินสะพัด3พันล้านบาทกระตุ้นกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า แสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเก่าแก่ที่สุดในเอเชีย “Bangkok Gems and Jewelry Fair” หรือ Bangkok Gems ครั้งที่ 68 ในวันที่ 6-10 ก.ย.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฉลองครบรอบ 40 ปี  ทั้งนี้งานบางกอกเจมส์เป็นงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับระดับสากลที่สำคัญ 1 ใน 5 ของโลก เป็นงานแสดงสินค้าจิวเวลรี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเก่าแก่ที่สุดในเอเชีย บางกอกเจมส์ ถือเป็นเวทีการค้าสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบไทยได้พบและเจรจาการค้ากับผู้ซื้อจากทั่วโลก

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

สร้างเครือข่ายพันธมิตร ขยายโอกาสทางธุรกิจและความร่วมมือระหว่างกัน ถือเป็นหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีผู้ประกอบการ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและมีการจ้างแรงงานในห่วงโซ่อุปทานถึงเกือบ 800,000 คน และมีผู้ประกอบการทั่วประเทศอยู่ราว 12,000 ราย ส่วนใหญ่เป็น SMEs ถึงกว่า 90% โดยงานนี้มีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกจิวเวลรี่ และตอกย้ำประเทศไทยในฐานะเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลกอีกด้วย”

“บางกอกเจมส์” ใหญ่ที่สุดในไทยและเก่าแก่ที่สุดในเอเชีย

ด้านนายสุเมธ ผู้อำนวยการ GIT กล่าวว่า Bangkok Gems and Jewelry Fair ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของผู้ค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลก โดยเฉพาะการซื้อขายพลอยสี ซึ่งประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตพลอยสีที่สำคัญระดับโลก โดยเฉพาะทับทิม ไพลิน และ พลอยเนื้อแข็งต่างๆ เนื่องจากเรามีช่างฝีมือที่มีความสามารถในการเจียระไนและปรับปรุงคุณภาพพลอย ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยแหล่งผลิตที่สำคัญคือจังหวัดจันทบุรีที่จะสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ทั้งนี้คาดการณ์ผู้เข้าชมงานทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย และคาดว่าจะสร้างมูลค่าการค้าได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

โดยปี 2565 การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป) เป็นสินค้าส่งออกลำดับที่ 9 ของการส่งออกโดยรวมของไทย มีมูลค่า 8,036 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 (มกราคม - มิถุนายน) มีมูลค่าส่งออก 4,348 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต11.94% โดยคาดการณ์เป้าส่งออกปี 2566 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า10% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยหลายประเทศฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว การเปิดประเทศ หรือมาตรการเปิดประเทศที่ผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น