นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนพ.ค.2566 มีมูลค่า 794.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.87% กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากชะลอตัวลงในช่วงเดือน มี.ค. และ เม.ย. ที่ผ่านมา โดยตลาดส่งออกสำคัญหลายตลาดกลับมาฟื้นตัวเพิ่มขึ้น
หลายสินค้าส่งออกได้มากขึ้น แต่หากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,041.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.67% และรวม 5 เดือน ของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออก ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 3,461.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 5.24% และรวมทองคำ มูลค่า 6,432.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 15.24%
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่า มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยฮ่องกง เพิ่ม 143.29% ญี่ปุ่น เพิ่ม 5.40% อิตาลี เพิ่ม 49.16% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 44.58% สิงคโปร์ เพิ่ม 91.36% ส่วนสหรัฐฯ ลดลง 6.70% เยอรมนี ลด 17.06% สหราชอาณาจักร ลด 18.82% สวิตเซอร์แลนด์ ลดลง 7.67% อินเดีย ลด 68.79%
ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญ ก็มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 33.95% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 34.48% พลอยก้อน เพิ่ม 25.86% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 80.83% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 140.45% เพชรก้อน เพิ่ม 39.26% ส่วนเครื่องประดับเงิน ลด 18.65% เพชรเจียระไน ลด 35.49% เครื่องประดับเทียม ลด 14.93% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า ลด 20.57% และทองคำ ลด 30.91%
ทั้งนี้แนวโน้มการส่งออกจากนี้ไป ยังคงได้รับแรงกดดันจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยสหรัฐฯ เศรษฐกิจชะลอตัวลง ธนาคารสหรัฐฯ 11 แห่ง ถูกลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ ทำให้สหรัฐฯ ฟื้นตัวช้า ยูโรโซนได้รับผลกระทบจากราคาพลังงาน และเงินเฟ้อ แม้ขณะนี้จะเริ่มดีขึ้น แต่เศรษฐกิจยังซึมตัว จีน ที่เปิดประเทศแล้ว แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังชะลอและฟื้นช้า ญี่ปุ่น ที่ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มีเพียงยอดค้าปลีกที่เติบโต แต่อุตสาหกรรมยังหดตัว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมการบริโภคในตลาดสำคัญทั่วโลก ยังไม่แน่นอน แต่จากการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติของผู้คนทั่วโลก ทำให้การบริโภคเครื่องประดับที่เข้ากับแฟชัน โดยเฉพาะที่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันยังเติบโตได้ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเป็นสินค้ารักษ์โลก ที่ไม่เพียงเป็นกระแสที่คนทั่วโลกใส่ใจ
แต่จากการสำรวจของ PwC พบว่า ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นราว 5% สำหรับสินค้าดังกล่าว รวมถึงช่องทางออนไลน์ ยังเป็นช่องทางสำคัญในการค้นหาสินค้า เปรียบเทียบราคา และรีวิวต่าง ๆ ก่อนการตัดสินใจซื้อ การใช้แนวทางการตลาดคู่ขนานทั้งออนไลน์และออนไซต์ จึงต้องมีการพัฒนาต่อยอดให้สอดคล้องกัน และนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภค และจะมีผลต่อการกระตุ้นยอดขายที่เพิ่มขึ้น