ปิดฉาก “แฟมิลี่มาร์ท” เมื่อ “เซ็นทรัล” ไม่ไปต่อ พลิกโฉมเป็น Tops Daily

07 ส.ค. 2566 | 18:40 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2566 | 18:46 น.
14.9 k

ค้าปลีกไซส์เล็กไม่ตอบโจทย์ “เซ็นทรัล รีเทล” ตัดใจปิดฉาก “แฟมิลี่มาร์ท : FamilyMart” พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “Tops Daily” สู้ศึกสมรภูมิร้านสะดวกซื้อ

นับจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ “ซีอาร์ซี” ออกมายอมรับว่า ร้านค้าปลีกไซส์เล็กที่มีพื้นที่ 150 ตร.ม. หรือขนาด 1-2 ห้องนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ไม่ตอบโจทย์ลูกค้า ขณะที่หลายแบรนด์เริ่มขยายพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้บริการลูกค้าได้หลากหลายและทั่วถึง ดังนั้นหากพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป ซีอาร์ซีก็ต้องปรับตัวรองรับ และส่งผลต่อการขยายสาขาของ “แฟมิลี่มาร์ท (FamilyMart)” ว่าจะมูฟอย่างไรต่อไป

คำตอบล่าสุดที่เกิดขึ้นคือ การปลดป้ายชื่อร้าน “แฟมิลี่มาร์ท” และเปลี่ยนเป็น “Tops Daily” เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะเปลี่ยนชื่อทั้งหมดให้เป็น “Tops Daily” ภายในสิ้นปีนี้ ถือเป็นการปิดฉาก “แฟมิลี่มาร์ท” ในเมืองไทย

“แฟมิลี่มาร์ท” ฮึดสู้จนหมดแรง

ต้องยอมรับว่าหลังจากที่ “ซีอาร์ซี” เข้าซื้อหุ้น “บริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด” แบบ 100% พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด ในปี 2563 ภาพลักษณ์ของ “แฟมิลี่มาร์ท” เริ่มเปลี่ยนไป กับการเดินหน้าลงทุน ด้วยโมเดลใหม่ และกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ที่มีสีสันมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวโมเดลใหม่อย่าง “แฟมิลี่มาร์ทคอนเทนเนอร์” (FOOD DRINK CONTAINER MART) ร้านสะดวกซื้อในรูปแบบตู้คอนเทนเนอร์รายแรกในประเทศไทย เน้นทำเลด้านหน้าศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม มหาวิทยาลัย ชุมชน โรงงาน เน้นดีไซน์ทันสมัย เป็นกระจกใส โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ด้วย “Graffiti & Street Art” เพื่อดึงดูดสายตาลูกค้าและเชิญชวนให้เข้ามาซื้อสินค้าทั้งขนม เครื่องดื่ม และอาหารพร้อมทาน

 

“เซ็นทรัล รีเทล” ตัดใจปิดฉาก “แฟมิลี่มาร์ท”

นอกจากนี้ยังมีโมเดล “ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ กดสะดวกทุกเวลา” หรือ Vending Machine ในคอนเซปต์  “หิวมั้ย กดเลย” จำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม รองรับลูกค้าในชั่วโมงเร่งรีบ และการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งภาวะการณ์ปัจจุบันที่ร้านสะดวกซื้อไม่สามารถเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงได้

โดยตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 2 ตู้ ได้แก่ ตู้จำหน่ายขนมขบเคี้ยวและอาหารพร้อมทานแช่เย็น (Snack and Chilled food)  และตู้จำหน่ายเครื่องดื่มเย็นฉ่ำ (Cold Beverages) ซึ่งการคัดเลือกสินค้าสำหรับตู้จำหน่ายอัติโนมัติจะพิจารณาตามฐานข้อมูลลูกค้าในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำเสนอสินค้าที่ตรงตามความต้องการให้มากที่สุด ระยะแรกเปิดรับเฉพาะ “เงินสด” เท่านั้น โดยมีตู้จะถูกวางอยู่หน้าร้านแฟมิลี่มาร์ทในแหล่งชุมชน และมหาวิทยาลัย

 

“เซ็นทรัล รีเทล” ตัดใจปิดฉาก “แฟมิลี่มาร์ท”

 

แต่ความพยายามของ “ซีอาร์ซี” ยังไม่หมดเท่านั้น เพราะเพียงไม่กี่เดือนถัดมา ซีอาร์ซีก็เปิดขายแฟรนไชส์ “แฟมิลี่มาร์ท” โดยชูจุดขาย เงินลงทุนต่ำเริ่มต้นเพียง 4.4 แสนบาท การันตีรายได้ขั้นต่ำ 30,000 บาทต่อเดือน ในระยะเวลา 1 ปี มีอายุสัญญาแฟรนไชส์นานถึง 6 ปี โดยเซ็นทรัล รีเทลจะเป็นผู้จัดหาร้าน ทำเล สินค้าและบริการต่างๆ ส่วนผู้ซื้อแฟรนไชส์ทำหน้าที่บริหารเพียงอย่างเดียว ซึ่งผลตอบรับเรียกว่าดีเกินคาด เพราะหลังเปิดรับสมัครแฟรนไชส์เพียงเดือนเดียว มีผู้สมัครเข้ามากว่า 10,000 ราย

แต่ดูเหมือนทั้งโมเดล “แฟมิลี่มาร์ทคอนเทนเนอร์” และ “ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ กดสะดวกทุกเวลา” จะไม่ตอบโจทย์กับกลุ่มลูกค้าเท่าใดนัก เห็นได้จากยอดขายที่เกิดขึ้น

 

ขณะที่พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เน้นใช้บริการร้านค้าปลีกไซส์ใหญ่ที่มีสินค้าครบ ทั้งของกิน ของใช้ บริการต่างๆ และสำคัญคือมีพื้นที่จอดรถ สะดวก สบาย ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ผู้ประกอบการต่างรู้ดี และหลายแบรนด์เดินหน้าแล้ว โดยเฉพาะ “เบอร์ 1” อย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น” ที่ประกาศแผนลงทุนชัดเจนในการปักหมุดสาขาที่มีขนาดใหญ่ พื้นที่ 1 ไร่ขึ้นไปตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน

การขยับตัวของ “แฟมิลี่มาร์ท” ซึ่งเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป กลายเป็น “กับดัก” ทำให้ไม่สามารถไปต่อได้  

“เซ็นทรัล รีเทล” ตัดใจปิดฉาก “แฟมิลี่มาร์ท”

ย้อนหลัง 4 ปีขาดทุนหนัก

ขณะที่ผลประกอบการของ “แฟมิลี่มาร์ท” ย้อนหลัง 5 ปี จะพบว่า

  • ปี 2561 มีรายได้ 17,884.6 ล้านบาท ขาดทุน 360.2 ล้านบาท
  • ปี 2562 มีรายได้ 16,754.8 ล้านบาท ขาดทุน 182.5 ล้านบาท
  • ปี 2563 มีรายได้ 11,877.7 ล้านบาท ขาดทุน 281.4 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ 7,481.8 ล้านบาท ขาดทุน 1,049 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ 7,849.1 ล้านบาท กำไร 29.8 ล้านบาท

ล่าสุดยังพบว่า บมจ. เซ็นทรัล รีเทล ยังได้แจ้งเปลี่ยนชื่อบริษัทต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จากบริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด เป็น บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด มินิมาร์เก็ต จำกัด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

ทำไมต้องเป็น “Tops Daily”

ผู้เชี่ยวชาญด้านค้าปลีก สะท้อนให้ฟังว่า การที่เซ็นทรัล รีเทล เลือกเปลี่ยนชื่อ “แฟมิลี่มาร์ท” เป็น “Tops Daily” นั้น บ่งบอกได้ว่า

แบรนด์ของ Tops Daily ที่มีอยู่ในตลาดยังคงมีความแข็งแรง และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ แม้ก่อนหน้า “เซ็นทรัล รีเทล” เองจะปรับยุทธศาสตร์รีแบรนด์ท็อปส์ (Tops) ครั้งใหญ่ ภายใต้โมเดลธุรกิจเป็นหนึ่งเดียว (1 Brand) ในชื่อ “Tops”  จากเดิมที่แยกเป็น Tops Market, Tops Daily และ Tops Online   

 

ร้านแฟมิลี่มาร์ท หลังเปลี่ยนเป็น "Tops daily"

 

แต่เมื่อสิทธิการบริหารแฟรนไชส์แฟมิลี่มาร์ทในเมืองไทยของเซ็นทรัลจะหมดลงในปี 2566 เซ็นทรัล รีเทล จึงจำเป็นต้องเลือกเดินหน้าเปลี่ยนชื่อ “แฟมิลี่มาร์ท” และ “Tops Daily” ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งการดึงแบรนด์ท็อปส์ เดลี่ กลับมาเดินหน้าต่อ ซึ่งจะทำให้ Tops Daily ก้าวขึ้นมาเป็น “เบอร์ 4” ในตลาดรองจากเซเว่นฯ, โลตัส โก เฟรซ และมินิบิ๊กซี

ต่อคำถามว่า ทำไมเซ็นทรัล รีเทล ไม่เปลี่ยนชื่อ แฟมิลี่มาร์ท เป็น “มินิ โก!” อีกหนึ่งโมเดลที่เซ็นทรัล รีเทล เปิดให้บริการในเมืองไทยในรูปแบบของมินิซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น

 

ปิดฉาก “แฟมิลี่มาร์ท” เมื่อ “เซ็นทรัล” ไม่ไปต่อ พลิกโฉมเป็น Tops Daily

 

ผู้เชี่ยวชาญคนเดิม บอกว่า “มินิ โก!” (Mini Go!)  ซึ่งเป็นโมเดลค้าปลีกที่เซ็นทรัล รีเทล เปิดและซัคเซสระดับหนึ่งในประเทศเวียดนาม ก่อนที่จะทดลองเปิดให้บริการในเปิดไทยโดยเปิดไปแล้ว 4 สาขาที่จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเซ็นทรัล รีเทลประเมินว่าจะใช้เวลาราว 6 เดือนในการวัดผลว่าจะเดินหน้าต่อ หรือพอแค่นี้ แต่หากผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ ก็มองว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและจะขยายสาขา Mini Go! เพิ่มเป็น 10 สาขาได้

“การไม่เลือกใช้ชื่อ Mini Go! แต่ใช้ Tops Daily แทน น่าจะบ่งบอกถึงกระแสตอบรับ Mini Go! ในเมืองไทยได้”

ซึ่งจะว่าไปแล้ว ภายใต้อัมเบลล่าของ “Go!” โมเดลค้าปลีกในรูปแบบมอลล์ ของเซ็นทรัล รีเทล ในเวียดนาม (ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนชื่อของ BigC มาเป็น Go!) ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้มีการต่อยอดขยายแบรนด์มาเป็น “Mini Go!” และยังถูกนำมาทดลองเปิดให้บริการในเมืองไทย

นอกจากนี้ยังมีร้าน “โก!ว้าว” (go! WOW)  ร้านวาไรตี้ สโตร์, “โก เพาเวอร์” (go! Power)  ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึง “go! Hotel” โรงแรมในกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาที่ทยอยเปิดให้บริการ ดังนั้นโมเดลของ “Go!” กับการขยายอาณาจักรในไทย จึงน่าจับตามองไม่น้อย

เมื่อปฏิเสธไม่ได้ และการเปลี่ยนป้ายชื่อร้าน “แฟมิลี่มาร์ท” เป็น “Tops Daily” เป็นคำตอบสุดท้ายที่ “เซ็นทรัล รีเทล” เลือกแล้ว ต้องจับตาดูต่อไปถึงอนาคตของ “Tops Daily” ท่ามกลางสมรภูมิค้าปลีกอันดุเดือดเผ็ดร้อนว่าจะเป็นอย่างไร

 

ปิดฉาก “แฟมิลี่มาร์ท” เมื่อ “เซ็นทรัล” ไม่ไปต่อ พลิกโฉมเป็น Tops Daily