เปิด 10 ปัญหาใหญ่ทุบเศรษฐกิจ รอรัฐบาลใหม่เร่งกู้ชีพ

04 ส.ค. 2566 | 14:25 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2566 | 15:51 น.
827

เปิด 10 ปัญหาประเทศขยี้ซ้ำเศรษฐกิจ รอรัฐบาลใหม่เร่งแก้ สภาอุตฯชี้เรื่องใหญ่สุด หนี้ครัวเรือนพ่วงหนี้นอกระบบพุ่ง 120% ต่อจีดีพี ฉุดกำลังซื้อวูบ หอการค้าจี้คลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ รับมือแล้งยาว รื้อสิทธิประโยชน์ดึง FDI อสังหาฯขอคุมดอกเบี้ย หนุนคนมีบ้าน

การเมืองเกมอำนาจและผลประโยชน์ หลังเลือกตั้งผ่านมากว่า 2 เดือนครึ่ง สถานการณ์ยังพลิกผัน ประเทศไทยยังไม่ได้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งของผู้เห็นต่าง ขณะที่ทุกนาทีของความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาล คือการเสียโอกาสในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ภาคเอกชนและนักวิชาการออกมาเร่งเร้าวาระเร่งด่วนของประเทศที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งดำเนินการภายใน 100 วันแรก

โดยจากการสอบถามพบมีอย่างน้อย 10 วาระเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งเข้ามาขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหา ได้แก่ การเบิกจ่ายและจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่ยังล่าช้า, การกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน, การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงสุดในรอบ 15 ปี, การลดภาระประชาชนและภาคเอกชนจากดอกเบี้ยขาขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปี (ล่าสุดอยู่ที่ 2.25% ต่อปี), การช่วยเหลือสภาพคล่องเอสเอ็มอี, การผลักดันการส่งออกที่ยังติดลบ 9 เดือนต่อเนื่อง

ต่อมาคือการฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติต่อเสถียรภาพรัฐบาล, การบริหารจัดการเพื่อรับมือภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เริ่มมีความชัดเจนเพื่อลดผลกระทบภาคการเกษตร และพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น อีอีซี,การกระตุ้น การท่องเที่ยวในเมืองรองที่ยังไม่คึกคัก และการกระตุ้นธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

เปิด 10 ปัญหาใหญ่ทุบเศรษฐกิจ รอรัฐบาลใหม่เร่งกู้ชีพ

  • สกัดหนี้คนไทยพุ่งปรี๊ด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ต้องขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาในลำดับต้น ๆ ได้แก่ การแก้ปัญหาปากท้องและช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้า และราคาพลังงาน เช่นค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับสูง การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา การช่วยเหลือสภาพคล่อง SME ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

อีกเรื่องสำคัญคือ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงนิยามและข้อมูลหนี้ครัวเรือนให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยรวมถึงหนี้เพื่อการศึกษา (กยศ.) การเคหะแห่งชาติ ธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ และหนี้สหกรณ์ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ ส่งผลให้คนไทยมีหนี้ครัวเรือน ณ ปัจจุบัน สูงถึง 90.6% ต่อจีดีพี ที่น่าห่วงมากกว่านั้นข้อมูลจากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยล่าสุด ระบุครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สินโดยเฉลี่ย 5.59 แสนบาท สูงสุดในรอบ 15 ปี และมีจำนวนถึง 54% ที่มีหนี้สูงกว่ารายได้ และพบว่าเป็นหนี้นอกระบบที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูง สูงถึง 19.8 % ของหนี้ทั้งหมด เมื่อรวมหนี้ครัวเรือนกับภาระหนี้สินแล้วจะพุ่งขึ้นไปถึง 120% ต่อจีดีพี เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ ไม่เช่นนั้นจะกดทับกำลังซื้อ และคนเป็นหนี้สินจะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ในระยะยาว

“ยังมีอีกหลายเรื่องเร่งด่วนที่ทาง ส.อ.ท. และกกร.ได้ทำเป็นสมุดปกขาวนำเสนอพรรคการเมืองไปก่อนหน้านี้ เช่น การช่วยเหลือเอสเอ็มอี การขับเคลื่อน Net Zero เรื่องของ Climate Change  เรื่องคาร์บอนเครดิต การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ การกิโยตินหรือยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย การสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศด้วยอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น S-Curve เพื่อทำให้เรา “ทำน้อย ได้มาก” และแข่งขันได้ เรื่องการป้องกันและหาทางรับมือเอลนีโญที่จะทำให้เกิดภัยแล้งยาวนาน โดยต้องหาแหล่งน้ำสำรอง และการกักเก็บน้ำ เหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วต้องทำทันที ซึ่งภาคเอกชนคงมีโอกาสได้หารือกับรัฐบาลใหม่ในเร็ววัน”

  • จี้คลอดมาตรกระตุ้น ศก.ชุดใหม่

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในลำดับต้นๆ ที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา ได้แก่ ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากเวลานี้กำลังซื้อของประชาชนลดลง การออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีชุดใหม่ในเรื่องแหล่งเงินทุน ซึ่งหากล่าช้ามากเอสเอ็มอีบางรายอาจต้องหยุดกิจการ หรือปรับลดการจ้างงาน และจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตามมา

ขณะเดียวกันต้องเตรียมแผนรับมือปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วนและจริงจัง จากปีนี้สัญญาณจากเอลนีโญมีความชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ยังค้างท่อและการจัดทำงบประมาณประเทศล่าช้า แม้จะสามารถใช้งบประมาณในตัวเลขเดิมได้ แต่ต้องการฝ่ายบริหารเข้ามาตัดสินใจและวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์

  • รื้อสิทธิประโยชน์ดึงทุน FDI

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนรัฐบาลใหม่ช่วง 100 วันแรก เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภค การลงทุน ผลักดันส่งออกปีนี้ไม่ให้ติดลบ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและเกษตรกรไทย ลดค่าครองชีพสูงของประชาชน จากราคาสินค้าขึ้นแล้วไม่ลด ขณะทิศทางเงินเฟ้อโลกลดลงแล้ว

การลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ทั้งค่านํ้ามัน ค่าไฟฟ้า ต้นทุนวัตถุดิบด้านอาหารสัตว์ที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน จัดหานํ้าเพื่อการเกษตรจากปัญหาภัยแล้ง และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ในระยะถัดไปคือ การรับมือกับมาตรฐานทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ที่กำลังมาอีก 1-2 ปีข้างหน้า การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG และการทบทวนสิทธิพิเศษและแรงจูงใจในการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไทยยังเสียเปรียบเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย

เปิด 10 ปัญหาใหญ่ทุบเศรษฐกิจ รอรัฐบาลใหม่เร่งกู้ชีพ

  • แก้ปัญหาวีซ่าหน้าด่านติดขัด

นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามากระตุ้นการท่องเที่ยว ไม่อยากให้เน้นไปที่จำนวนนักท่องเที่ยว แต่อยากให้โฟกัสคุณภาพของนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นสำคัญ โดยนโยบายที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน มองว่าเป็นเรื่องของ Accessibility หรือความสามารถในการเข้าถึงของนักท่องเที่ยว

โดยไทยควรจะมีการอำนวยความสะดวกในการเข้าเมือง แก้ปัญหาการติดขัดในเรื่องของ VISA ON ARRIVAL (วีซ่าหน้าด่าน) รวมถึงความสะดวกในการขอวีซ่าเข้าไทยของนักท่องเที่ยวจีน การส่งเสริมหรือกระตุ้นเพื่อดึงเที่ยวบินกลับมาให้บริการเพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาราคาตั๋วเครื่องบินที่มีราคาสูงมาก และแก้ปัญหาเรื่องของที่นั่งบนเครื่องบินมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในการเดินทาง

ส่วนระยะถัดไป ควรวางแผนกระจายแหล่งท่องเที่ยว ไม่อยากให้กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่ ที่จะรองรับนักท่องเที่ยวที่ล้นเกินไป ควรมองไปยังจังหวัดที่มีศักยภาพด้านวัฒนธรรม กีฬาต่าง ๆ เพื่อขยายโลเคชั่นในการเดินทางท่องเที่ยว กระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง รวมถึงนโยบายในการเข้าถึงแหล่งเงินของผู้ประกอบการ การแข่งขันที่เป็นธรรม ตอนนี้ที่ยังพูดกันไม่จบคือการทำธุรกิจของ Airbnb  การนำคอนโดมิเนียม หรือ บ้าน มาขายห้องพักในลักษณะของโรงแรม ถ้ารัฐบาลอยากให้เป็นแบบนี้ ก็ต้องมีความชัดเจนว่าจะควบคุมอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องของมาตรฐานในการให้บริการ

สำหรับความคาดหวังรัฐบาลใหม่ ในฐานะคนทำธุรกิจก็อยากเห็นนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่ต่อเนื่องและชัดเจน รวมทั้งอยากจะให้รัฐบาลมาช่วยดูแลเรื่องต้นทุนต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก   โดยเฉพาะค่าไฟ ซึ่งมีต้นทุนต่อยูนิต สูงถึง 20-30% ทั้งยังมีเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยากให้รัฐบาลช่วยดูแลว่าจะมีมาตรการใดในการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้หรือไม่ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้ามาเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19

  • เพิ่มรายได้เพิ่มกำลังซื้ออสังหาฯ

นายอภิชาต จูตระกูล ประธานกรรมการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการเร่งด่วน คือเรื่องของปากท้อง โดยต้องช่วยสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพเพื่อให้ประชาชนมีรายได้และมีกำลังซื้อที่อยู่อาศัย และจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นกลายเป็นต้นทุน หากรัฐบาลมีมาตรการควบคุมได้จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีความต้องการซื้อบ้าน

ขณะที่ นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฎิบัติการ บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินนโยบายในการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การปรับเรื่องของการจัดเก็บภาษีที่ดิน ในอัตราของคนต่างชาติ การกำหนดให้ต่างชาติซื้อบ้านอยู่อาศัยได้โดยเฉพาะบ้านจัดสรรและอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายจัดสรรที่ดิน นอกจากนี้ดำเนินการเรื่องของการเข้ามาอยู่อาศัยของคนต่างชาติ เช่นถือวีซ่าระยะยาว

“มั่นใจว่าในไตรมาส 4 เมื่อมีรัฐบาลแล้วและมีการขับเคลื่อนนโยบาย เชื่อว่าตลาดอสังหาฯจะฟื้นตัวและจะมีการลงทุนโครงการมากขึ้นจากผู้ประกอบการ จากที่ผ่านมายังเป็นช่วงสุญญากาศไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ มีผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียม และโอนกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก”

  • ดันเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งผลักดันออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะแรกคือ เงินดิจิทัล เพราะขณะนี้กำลังซื้อของประชาชนระดับรากหญ้ามีปัญหา ขณะที่ภาคธุรกิจมีความกังวลเรื่องแผนแม่บทตลาดทุน โดยเฉพาะเรื่องการจัดภาษีขายหุ้นที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก  

นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ต้องเร่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)   เพื่อส่งเสริมการออม โดยในมุมของนักลงทุนนั้นให้ความสำคัญกับดัชนีตลาดหุ้น และเงินในกระเป๋า

นายสัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด (Cryptomind Advisory)  กล่าวว่า ปัญหาที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้โดยเร่งด่วนในระยะสั้นคือ ปัญหาปากท้องประชาชน  เพราะหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น  ขณะที่กำลังซื้อลดลง โดยการแจกเงินดิจิทัลเป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งที่เข้ามากระตุ้น  แต่ต้องมีนโยบาย หรือมาตรการอื่น ๆ เข้ามาช่วยกระตุ้นด้วย

ขณะที่ระยะกลางนั้นมองว่าต้องหา  New S-Curve ใหม่ ๆ   โดยขณะนี้ญี่ปุ่น มอง Web3 เป็นระบบทุนนิยมใหม่ ขณะที่ฮ่องกง มีนโยบายส่งเสริมดิจิทัลแอคเซสชัดเจน ส่วนประเทศไทยมีกระแสตอบรับสินทรัพย์ดิจิทัลสูง ขณะที่ผู้เล่นรายใหญ่อย่างสถาบันการเงินก็เดินหน้าเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล ถ้ารัฐบาลมีนโยบายดี ๆ ออกมาส่งเสริมก็จะเป็นสปริงบอร์ดให้กับผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลในการเข้าไปช่วงชิงตลาดในภูมิภาคหรือตลาดโลก

  • การเมืองยื้อฉุดจีดีพีหด

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า จากการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความล่าช้า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ จากเดิมคาดการณ์ขยายตัวจีดีพีไทยปีนี้จะอยู่ที่ 3.6% จะโตได้ไม่ถึง 3.0% วันนี้ไม่ว่า สส.หรือ สว. สิ่งหนึ่งคือต้องพยายามหาทางออกร่วมกันให้ดีที่สุด เพื่อให้ประเทศเราขับเคลื่อนต่อไปได้ ภายใต้กลไกของรัฐธรรมนูญของระบบรัฐสภาแล้วไม่สร้างปัญหาความขัดแย้งที่จะลงสู่ถนน ซึ่งสถานการณ์วันนี้บ่งชี้แล้วว่ามีโอกาสสูงที่จะยืดเยื้อ ขัดแย้ง ซึ่งความขัดแย้งนี้ หากเกิดอย่างสงบและสันติ ก็จะไม่สร้างปัญหา แต่ถ้าบานปลายย่อมส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ผู้ประกอบการและภาพลักษณ์ประเทศ ความเชื่อมั่นจากนานาประเทศจะลดน้อยลง

“ประเทศไทยผ่านวิกฤตมามากแล้วทั้งโควิด  สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเศรษฐกิจ อย่าให้วิกฤตการเมืองในประเทศซ้ำเติม เพราะวันนี้กระแสการเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนทุกวัน สิ่งสำคัญคือ พอเปลี่ยนแปลงประเทศไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่ได้เกิดการเพิ่มทักษะ ความสามารถด้านต่าง ๆ แต่กลับมีจำนวนหนี้เสียที่เพิ่มมากขึ้น จากการหยุดชะงักของเศรษฐกิจ ซึ่งจากเดิมที่เป็นหนี้ดีก็กลายเป็นหนี้เสีย”

ด้านนายแพทย์บุญ วนาสิน  ประธานที่ปรึกษาโรงพยาบาล ธนบุรี บำรุงเมือง กล่าวว่า วันนี้สิ่งที่คนไทยต้องเผชิญคือการเมืองที่ไม่เสถียร ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ หนี้ครัวเรือน การที่ไทยจะมุ่งหวังให้รัฐบาลใหม่มาสานต่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น อาจจะไม่เหมือนกับในปี 2544 ซึ่งเศรษฐกิจพังเฉพาะคนมีเงิน และเกิดขึ้นในไม่กี่ประเทศ แต่ในปี 2566 สถานการณ์เปลี่ยนไม่เหมือนเดิม เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกย่ำแย่ อุตสาหกรรมไม่ฟื้น แถมยังมีหนี้จากเงินกู้ ตอนนี้บุญเก่าเราหมดแล้ว มีดีแค่เรื่อง การท่องเที่ยว แต่ก็ต้องอัพเดต และเปิดกว้างโดยเฉพาะเรื่องเมดิคอล ทัวริสซึม เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา ส่วนภาคอุตสหากรรมก็ต้องเร่งลงทุนเช่นเดียวกับไต้หวันและญี่ปุ่น ที่มุ่งส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เดินหน้าได้

“วันนี้ประเทศไทยเป็น Failed State จากปัญหาความยากจน ปากท้อง  สังคม โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เปลี่ยน เป็น old economy มีคอร์รัปชัน ผูกขาด ส่งออกเราติดลบมา 9 เดือนต่อเนื่อง อสังหาติดลบต้นปี 25% จากขายไม่ออก ปัญหาคอนโดฯย่านอโศกล่าสุด ทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่น ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น”

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3911 วันที่ 6 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566