“ชยธรรม์” ปักหมุด ปี 75 อัพเกรดรถไฟฟ้า-ฟีดเดอร์ เชื่อมขนส่งสาธารณะ

26 ก.ค. 2566 | 16:04 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2566 | 17:22 น.

“ชยธรรม์” ดัน 4 เครื่องมือ ลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เร่งอัพเกรดระบบรถไฟฟ้า-ฟีดเดอร์ เชื่อมขนส่งสาธารณะในไทย ภายในปี 75 ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล สกัดปัญหามลพิษทางอากาศ

นายชยธรรม์  พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาโจทย์ใหญ่ฟื้นอสังหาริมทรัพย์ Property Insight หัวข้อ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ว่า กระทรวงคมนาคมมีเครื่องมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย ทางบก  ทางราง ทางเรือ และทางอากาศ ที่สามารถเดินทางขนส่งสินค้าจากต้นทางสู่ปลายทางได้มีประสิทธิภาพให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลามีความสมเหตุสมผล หากสามารถดำเนินการได้จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศในภาคการท่องเที่ยว,อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เพราะไทยเป็นประเทศส่งออกที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ

“ชยธรรม์” ปักหมุด ปี 75 อัพเกรดรถไฟฟ้า-ฟีดเดอร์ เชื่อมขนส่งสาธารณะ

ในปัจจุบันพบว่า การคมนาคมขนส่งในเมืองมักจะพบเจอปัญหาการจราจรติดขัด การคมนาคมขนส่งมีปัญหา ,ปัญหามลพิษทางอากาศหรือฝุ่น PM 2.5 ทั้งนี้สาเหตุที่ประชาชนไม่เลือกใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เนื่องจากการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะไม่สะดวก,รถโดยสารมีไม่เพียงพอ ,ไม่มีความตรงต่อเวลาของการเดินรถ นอกจากนี้ยังพบอีกว่าเมื่อมีการพัฒนาระบบขนส่งทางรางกลับเจอระบบการเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะที่ไม่สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้ จากปัญหาเหล่านี้ถือเป็นสาเหตุที่ประชาชนเลือกใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแทนการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ฯลฯ
 

นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมักพึ่งพาการขนส่งสาธารณะทางถนนเป็นหลักด้วยการใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้า โดยภาครัฐพยายามหันไปใช้การขนส่งทางระบบรางมากขึ้นเพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่า แต่ยังมีปัญหาที่ระบบรางของไทยยังคงเป็นระบบรางเดี่ยว ส่งผลให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ตรงเวลาและผู้ประกอบการไม่สามารถขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือได้ทันตามกำหนด  

“ชยธรรม์” ปักหมุด ปี 75 อัพเกรดรถไฟฟ้า-ฟีดเดอร์ เชื่อมขนส่งสาธารณะ

 “สิ่งที่เราตั้งเป้าหมายคือทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนคนเดินทางจากรถยนต์ส่วนบุคคลไปสู่รถขนส่งสาธารณะ ถ้าระบบขนส่งสาธารณะไม่สะดวกไม่มีใครมาใช้บริการแน่ หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจะทำให้ศักยภาพการแข่งขันของประเทศด้อยลงไม่สามารถสู้ประเทศอื่นได้”

 นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า ในอนาคตผู้คนจะเดินทางด้วยระบบรางมากขึ้น หากสามารถพัฒนาระบบราง โดยเพิ่มความเร็วในการเดินทางได้ด้วยความเร็ว 100 กม.ต่อชั่วโมง เชื่อว่าจะทำให้ระบบการคมนาคมขนส่งมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมพยายามวางรากฐานในการพัฒนาให้ประชาชนสามารถกระจายปอยู่ในพื้นที่อื่นๆได้มากขึ้น เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ใช้ระยะเวลาการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองเท่าเดิม

 

“สิ่งสำคัญไม่ใช่การพัฒนาระบบรางแล้วจบ แต่การให้ประชาชนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ คือระบบฟีดเดอร์ ที่เป็นสิ่งสำคัญ โดยสิ่งที่กระทรวงคมนาคมต้องดำเนินการควบคู่ คือ การวางระบบฟีดเดอร์ที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถบัสพลังงานไฟฟ้าร่วมกับการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ซึ่งเราอยากเห็นประชาชนที่ใส่สูทผูกไทด์ สามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้ เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในเมือง”

“ชยธรรม์” ปักหมุด ปี 75 อัพเกรดรถไฟฟ้า-ฟีดเดอร์ เชื่อมขนส่งสาธารณะ

นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า กระทรวงฯมีแผนพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ระยะทาง 554 กม. จำนวน 14 สาย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2575 โดยในปี 2572 จะต้องดำเนินการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 80% ของทั้งระบบ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ปัจจุบันมีการเปิดบริการรถไฟฟ้าแล้ว ระยะทาง 241 กม. เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายเขียว,รถไฟสายสีแดง,รถไฟฟ้าสายสีเหลือง,รถไฟฟ้าสายน้ำเงิน,รถไฟฟ้าสายสีม่วง,รถไฟฟ้าสายสีทอง

 

ส่วนรถไฟฟ้าที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น รถไฟฟ้าสายชมพู ,รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก,รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออก , รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ฯลฯ ทั้งนี้ยังมีรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอครม. พิจารณา ประกอบด้วย รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง ฯลฯ

 

ขณะที่แผนพัฒนารถไฟฟ้า M-Map2 ยังพบว่ามีเส้นทางที่น่าสนใจคือ เส้นทางที่เชื่อมต่อบางหว้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียววิ่งบนถนนราชพฤกษ์ซึ่งจะเชื่อมต่อกับบางบำหรุของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน พบว่าแนวเส้นทางดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยค่อนข้างมาก โดยมอบหมายให้สนข.ไปดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางใช้ระบบฟีดเดอร์ที่สามารถเข้าไปสู่ชุมชนเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าได้ หากดำเนินการได้เชื่อว่าการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในเมืองลดลง ทำให้คุณภาพชีวิตในกรุงเทพดีขึ้นและการจราจรติดขัดลดลง

 

นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า กระทรวงยังได้มอบหมายให้สนข.ไปศึกษาจุดจอดของท่าเรือที่เชื่อมต่อการเดินทางไปสู่รถไฟฟ้าเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ริมคลองสามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะได้สะดวกมากขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ ล้อต่อรางต่อเรือ เช่น คลองแสนแสบ,คลองลาดพร้าว, คลองมหาสวัสดิ์ ฯลฯ  นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กรมเจ้าท่าไปพัฒนาท่าเรือเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษทางอากาศ