ชงครม.ใหม่ไฟเขียวแผนอีอีซี ปักธงดึงเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้าน

21 ก.ค. 2566 | 16:25 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2566 | 16:25 น.

"อีอีซี" เล็งเปิดรับฟังความเห็น รอบ2 บุกพื้นที่ 3 จังหวัด ดันร่างแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ปี 66-70 ตั้งเป้าลงทุนแตะ 2.2 ล้านล้านบาท ลุ้นชงกพอ.-ครม.ชุดใหม่ไฟเขียวภายในก.ย.นี้ ซุ่มคลอดกฎหมายลูก หนุนการลงทุนต่อเนื่อง

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566 - 2570 ว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นการรับฟังตอบข้อซักถามจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญและทิศทางขับเคลื่อนอีอีซี

รวมทั้งต่อยอดและทบทวนแผนภาพรวมฯ อีอีชี ในระยะที่ 1 (2561- 2565) โดยแผนดังกล่าวได้มีการตั้งเป้าหมายมูลค่าการลงทุนในอีอีซี 2.2 ล้านล้านบาท เกิดการกระจายรายได้ในพื้นที่อีอีซี คิดเป็น 34% จากแผนเดิมในปี 2561-2565 ที่ตั้งเป้ามูลค่าการลงทุนในอีอีซี 1.5 ล้านล้านบาท

ชงครม.ใหม่ไฟเขียวแผนอีอีซี ปักธงดึงเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้าน

 นายจุฬา กล่าวต่อว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกรุงเทพฯแล้ว ทางอีอีซีจะมีการเปิดรับความคิดเห็นต่อร่างพัฒนาฯอีกครั้งในพื้นที่อีอีซีทั้ง 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี,ระยอง,ฉะเชิงเทรา ภายในเดือนสิงหาคม 2566

หากการเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จทั้ง 2 ครั้ง เบื้องต้นจะมีการปรับปรุงร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เสนอต่อคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนกันยายน 2566

ชงครม.ใหม่ไฟเขียวแผนอีอีซี ปักธงดึงเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้าน

 นายจุฬา กล่าวต่อว่า อีอีซียังมีแผนที่จะออกกฎหมายลูก จำนวน 44 ฉบับ ซึ่งอยู่ภายใต้พ.ร.บ.อีอีซี ปัจจุบันมีกฎหมายที่อีอีซีสามารถดำเนินการได้ 20 ฉบับ ทั้งนี้พบว่าการลงทุนสมัยใหม่จะพิจารณาจากความสะดวกในด้านการลงทุนมากกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งเป็นกฎระเบียบที่สามารถขออนุญาตออกเอกสารต่างๆได้สะดวกมากขึ้น โดยพ.ร.บ.อีอีซีได้ให้อำนาจอีอีซีและกพอ.สามารถออกกฎหมายลูกแทนกฎหมายอื่นๆได้

"ปัจจุบันอีอีซีทยอยดำเนินการออกกฎหมายลูก ซึ่งกฎหมายบางเรื่องสามารถดำเนินการได้เลย แต่กฎหมายส่วนใหญ่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกพอ.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะต้องรอให้มีรัฐบาลชุดใหม่ก่อน คาดว่าการออกกฎหมายลูกจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้"

 

ทั้งนี้กรอบแนวคิดใน (ร่าง) แผนภาพรวมฯ อีอีซี (2566 -70) มีปัจจัยสำคัญที่จะพิจารณาให้สอดคล้องการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายหลักรัฐบาล โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจBCG รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศและระดับโลก ซึ่งอีอีซี ได้สร้างการมีส่วน ร่วมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และจะนำข้อเสนอแนะ ไปปรับปรุง (ร่าง) แผนภาพรวมฯ อีอีซี ให้สอดคล้องตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบกิจการ พัฒนา โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพต่อเนื่อง ฯลฯ

 

สำหรับร่างแผนภาพรวมๆ อีอีซี มีกรอบแนวทางการพัฒนาที่สำคัญๆ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตในพื้นที่อีอีซี 2. เพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค

 

3.ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.พัฒนาเมืองให้มี ความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ และ 5.เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน

ชงครม.ใหม่ไฟเขียวแผนอีอีซี ปักธงดึงเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้าน

 นอกจากนี้อีอีซี ได้ตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น ผลักตันให้เกิดมูลค่าการลงทุนโดยเฉพาะจาก 5 คลัสเตอร์หลัก ประกอบด้วย การแพทย์ขั้นสูง,ดิจิทัล ,ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ,BCG และบริการ พร้อมเป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบ เป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก ผลักดันให้คนในพื้นที่อีอีซีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

 ที่ผ่านมาการดำเนินงานแผนภาพรวมฯ อีอีซี ระยะที่ 1 (2561 -65) ได้เน้นการพัฒนาโครงการสร้าง พื้นฐานหลัก ทั้งด้านคมนาคม เทคโนโลยี และนวัตกรรม เตรียมความพร้อมด้านพื้นที่และแรงงาน สร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการสร้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เกิดมูลค่าการลงทุนที่อนุมัติแล้วสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท จากที่วางเป้าหมายไว้ 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น โครงการร่วมลงทุนรัฐ เอกชน (4 โครงสร้างพื้นฐานหลัก) 661,012 ล้านบาท มูลค่าการออกบัตรส่งเสริมลงทุน(บีโอไอ) 1,250,305 ล้านบาท และงบบูรณาการอีอีชี 70,271 ล้านบาท EEC